เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 67 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ซึ่งล่าสุดตนพร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น และนายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองตาก โดยมีการประชุมร่วมกับหัวหน้า ปภ.จังหวัดตาก ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตาก โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ โดยได้ดำเนินการพร่องน้ำจากหนองหลวงลงสู่แม่น้ำปิง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับน้ำฝน หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ โดยมีการสูบน้ำออกจากหนองหลวง อำเภอเมืองตาก ด้วยเป้าหมายประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านคลองโคกพลูลงสู่แม่น้ำปิง
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาคเหนือตอนบน โดยในปัจจุบันจังหวัดตากสามารถพร่องน้ำได้วันละประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ด้วยเครื่องสูบน้ำขนาด 24 นิ้วของโครงการชลประทานตาก ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จังหวัดตากได้ทำการพร่องน้ำจากหนองหลวง ลงสู่แม่น้ำปิงเพื่อเป็นการรองรับน้ำหากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อีกทั้งยังได้เฝ้าติดตามความพร้อมของคลองตาต่วน คลองสามวา และคลองระบายน้ำหน้าโรงเรียนผดุงปัญญา อำเภอเมืองตาก เพื่อเตรียมความพร้อมของเส้นทางระบายน้ำเข้า – ออก บริเวณหนองหลวงด้วย
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวในช่วงท้ายว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากอย่างทันท่วงที จังหวัดตากได้เพิ่มมาตรการในการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบระบบระบายน้ำ การจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต ตลอดจนถึงการวางแผนการอพยพประชาชนในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และขอให้พี่น้องประชาชนเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจจะมาโดยไม่ทันตั้งตัวด้วยตัวเอง อาทิ การนำสิ่งของมีค่าและเอกสารสำคัญไปเก็บในที่สูงและปลอดภัย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์อุทกภัย ตลอดจนการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างทันท่วงที และหากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติ หรือ ต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนนิรภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือ ประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปลัดอำเภอประจำตำบล นายอำเภอ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1686/2567 วันที่ 29 ส.ค. 2567