วันนี้ (30 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยถึงความสำเร็จของ การขับเคลื่อน “โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้รับแจ้งจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เกี่ยวกับมติของคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้อนุมัติรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตของโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน รอบที่ 3 ในพื้นที่ 76 จังหวัด จำนวน 277,951 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นข้อมูลการรับรองปริมาณในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2566 อันแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่น้องประชาชนในทุกครัวเรือนเป้าหมายที่สามารถร่วมกันลดการปลดปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้งานถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 22 ล้านต้น หรือเป็นการสร้างพื้นที่ป่าได้กว่า 24,000 ไร่ นอกจากนี้ คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นยังสามารถสร้างมูลค่าเป็นเม็ดเงินกลับคืนสู่ชุมชนได้กว่า 55 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นรายได้แก่ทุกท้องถิ่นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน
“กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อน “โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ร่วมกับพี่น้องภาคีเครือข่าย ซึ่งนับตั้งแต่ครั้งแรกของการประกาศความสำเร็จการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนนำร่อง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ ในโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นจำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นเงิน 816,400 บาท โดยธนาคาร KBANK ต่อมาในครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน 2567 ได้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 12 หน่วยงาน คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก บจก.ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ บจก.อีเวนท์ แทรเวล เอเชีย บจก.โอ๊คลิน (ประเทศไทย) บจก.ไทยแมนอินดัสตรีส์ บจก.เวคิน (ประเทศไทย) บจก.บีแอลซีพี เพาเวอร์ บจก.ฮีดากา ซูซูโทกุ (ประเทศไทย) บจก.เฮลทีเอิร์ธ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้มีการรับซื้อคาร์บอนเครดิต จำนวน 9,205 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นจำนวนเงินกว่า 2 ล้านบาท และในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ที่ TGO ได้ทำการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จำนวน 277,951 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ราคาตันละ 200 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 55,590,200 ล้านบาท” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ความสำเร็จที่ยั่งยืนในการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนทุกท้องถิ่นได้เกิดแรงจูงใจในการขับเคลื่อน “โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” เพื่อร่วมดูแลให้โลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคนคงอยู่อย่างยั่งยืนได้ “ภาคธุรกิจเอกชน” เป็นกำลังสำคัญในการสร้างแรงจูงใจ สร้างกำลังใจของพี่น้องประชาชนจนส่งผลให้เกิดการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการบริจาคเม็ดเงินลงไปให้การสนับสนุนซื้อคาร์บอนเครดิตจากพี่น้องประชาชน ซึ่งเงินทุกบาท ทุกสตางค์ ไม่ได้กลับเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่จะกลับไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำแนกเป็นรายครัวเรือน เช่น ถ้าสนับสนุน 100 หน่วย ก็จะกลับไปตามสัดส่วน 100 หน่วย และหากองค์กรภาคเอกชนให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น มากขึ้น demand side ก็จะไป drive supply side สนับสนุนให้ประชาชนทุกครัวเรือนช่วยกันในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และใช้ประโยชน์ในทุกวัน ทุกเวลา
“จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนทุกหน่วยงาน ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลุกขึ้นมา ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนคนไทย ร่วมดูแลรักษาโลกใบเดียวนี้ ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิต โดยสามารถติดต่อได้ที่ กองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โทร. 08-0069-2677 ในวันและเวลาราชการ หรือแอปพลิเคชัน CERO Carbon Wallet ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CERO Carbon Wallet โดย Android ทาง https://play.google.com/store/apps/details?id=com.vekin.carbon_wallet และ IOS ทาง https://apps.apple.com/th/app/cero-carbon-wallet/id1614214805” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “ธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank)” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,849 แห่ง โดยมีกลไกคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ทุกครัวเรือน ร่วมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดร่วมขับเคลื่อน ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2567 มีธนาคารขยะที่จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว จำนวน 14,953 แห่ง สมาชิกธนาคารขยะทั่วประเทศ 1,866,710 คน มีปริมาณขยะที่ขายได้ทั่วประเทศแล้วรวมทั้งสิ้น 1,782,390.99 ตัน คิดเป็นรายได้รวม 1,013.81 ล้านบาท โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวจัดทำเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก เช่น ค่าฌาปนกิจ ค่าคลอดบุตร ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ เป็นเงินรวม 809.36 ล้านบาท คงเหลือเงินหมุนเวียนธนาคารขยะ 204.45 ล้านบาท นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้สนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจและปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขายเพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและสามารถนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยมีความภาคภูมิใจร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และพี่น้องภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภายใต้การนำของ นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้นำในการประสานการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผนึกกำลังแปรเปลี่ยนวาทกรรม “Change for Good” ให้เกิดมรรคเกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คํามั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เพื่อแสดงจุดยืนว่า พวกเราจะเป็นสมาชิกที่ดีของโลกใบเดียวนี้ ด้วยการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะลดภาวะก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพื่อไม่ให้โลกของเรามีอุณหภูมิที่สูงขึ้น บรรเทาสภาพอากาศที่วิปริตแปรปรวนหรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกให้ลดน้อยลงจนหมดไป พร้อมทั้งส่งต่อการมีจิตสำนึกและแนวทาง/วิธีการใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีบนโลกใบนี้ไปยังลูกหลาน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1692/2567 วันที่ 30 ส.ค. 2567