วันนี้ (31 ส.ค. 67) เวลา 10.00 น. ที่ห้องยี่เป็งแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ภาคเหนือ ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวีระพงษ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ดร.ศรินดา จามรมาน นายศิริชัย ทหรานนท์ นายภูภวิศ กฤตพลนารา นายธนาวุฒิ ธนสารวิมล ดร.กรกลด คำสุข ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนยินดีที่เห็นพวกเราชาวมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท และตั้งใจในการสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระดำรินั้น คือ “การช่วยทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส 30 มิถุนายน 2563 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันสะท้อนให้เห็นความปรารถนาของพระองค์ท่านในการนำสิ่งที่ดีงามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขับเคลื่อนในการช่วยทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน และส่งผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคงด้วย โดยสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความเพียรพยายามขับเคลื่อนให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นจุดแข็งของคนไทยในทุกภูมิภาคว่า “มือเย็น” เพราะมือคนไทยจับต้องอะไรก็ดีไปหมด จับผัก จับเนื้อสัตว์ ก็เป็นอาหารเลิศรส จับเส้นไหม เส้นด้าย ก็กลายเป็นผืนผ้าที่สวยงาม จับไม้ไผ่ จับหวาย ก็กลายเป็นชิ้นงานที่มีความสวยงาม จับเครื่องดนตรีก็กลายเป็นเสียงเพลงที่ไพเราะ จับเหล็ก จับพลาสติก ก็กลายเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพ จนกระทั่งแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกเลือกตั้งฐานการผลิตที่เมืองไทย เพราะแม้ค่าแรงที่แพงกว่าของคนไทยแต่ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ สมบูรณ์มากกว่าด้วยมือของคนไทย โดยเฉพาะในเรื่อง “งานผ้า” ที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาในการสร้างสรรค์ นับแต่พระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ลวดลายผ้าพระราชทานทั้ง 8 ลาย และ Sustainable Fashion อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) หลายข้อ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งกลไกหุ้นส่วนความร่วมมือสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน จนกระทั่ง UN ยกย่องว่า ผ้าไทยเป็น Top 5 ของโลกที่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานสิ่งที่ดีของชีวิตให้กับคนมหาดไทย ในการลุกขึ้นมาส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และพระราชทานทางสิ่งที่เป็นการพัฒนาองค์รวม คือ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพราะพระองค์พระราชทานความไว้วางพระทัยให้คนมหาดไทยได้มีโอกาสในการสนองงานของพระองค์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ซึ่งคนมหาดไทยผู้มีมนสิการด้วยความเคารพและเทิดทูนพระองค์ท่านก็ต้องช่วยกันนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย หรือ “บวร” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้นำส่วนราชการในพื้นที่ มีข้าราชการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีที่สุดของผู้บังคับบัญชา ทำให้ผู้บังคับบัญชาดวงตาเห็นธรรมและทำตามสิ่งที่ดีที่เราเสนอ ด้วยการ Input และ Push สิ่งที่ดีให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ทั้งที่เป็นทางการ คือการนำเสนอด้วยบันทึก ด้วยหนังสือ และไม่เป็นทางการ ด้วยการพูดคุย นำเสนอด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ คือ การเลือกทำในสิ่งที่เราเสนอ นอกจากนี้ เราต้องหมั่นทำงานด้วยการระดมสมองให้มีความคิดที่ครบถ้วนบริบูรณ์ หรือเรียกว่า “บูรณาการ” ทั้งบูรณาการสรรพกำลังและบูรณาการงานเพื่อเป้าหมายของงานปรากฏเป็นรูปธรรม ผ่านการขับเคลื่อนจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้นำของจังหวัด/อำเภอได้นำพี่น้องข้าราชการและทุกภาคส่วนทำงานแบบองค์รวมร่วมกัน เพราะชีวิตที่ยั่งยืนของประชาชน ตอบโจทย์ได้ด้วยหมู่บ้านยั่งยืน ที่ไม่เพียงมีแค่เรื่องรายได้ แต่รวมถึงเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม การศึกษา การออกกำลังกาย สุขภาพอนามัย ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ศีลธรรม และการถ่ายทอดภูมิปัญญารู้ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และเรื่องของชีวิตที่ปลอดภัย สังคมปลอดภัย ยาเสพติด น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งพวกเราทุกคนต้องน้อมนำสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง มาเป็นแรงบันดาลใจที่อยากให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกับทุกส่วนเพื่อผลักดันเป้าหมายให้สำเร็จ
“กิจกรรมวันนี้ เป็นเครื่องหมายยืนยันว่าคนไทยมีฝีมือ และขอเรียนว่า ช่างทอ ช่างปัก และผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรมภาคเหนือมีศักยภาพสูง เพราะคนเหนือมือเย็นกว่าคนภาคอื่น อันสะท้อนผ่านวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานทุกด้าน ทั้งการพูด อาหาร และงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่มีความเป็นเลิศ โดยมีประจักษ์พยานเป็นรูปธรรม ซึ่งปีนี้ส่งผ้าเข้าประกวดเป็นเท่าตัว จากปีก่อน 400 ผืน เป็นมากกว่า 1,000 ผืน ด้วยเหตุผลที่สำคัญอีกประการ คือ ทีมงาน พช. มีพื้นฐานที่ดี เรามีคนมหาดไทยที่มีใจเพื่อประชาชน แม้เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งหากความทราบถึงพระองค์ท่าน ก็จะทรงมีแต่ความปลื้มปีติที่เห็นพวกเราช่วยกันจ้ำจี้จ้ำไช ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างชุมชนมั่นคง เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เรียกว่า “ยูเรก้า” และเราก็สุขใจที่ได้ทำดี เฉกเช่นสิ่งที่ดี และโอกาสดี ๆ ที่เราได้รับพระราชทาน ถ้าเราเอาใจใส่และผลักดันขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สิ่งที่ดีก็จะเกิดกับพี่น้องประชาชน และไปสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติของเราโดยรวม รวมทั้งทำให้โลกใบเดียวอันสวยงามยิ่งของพวกเรา อายุยืนยาว อยู่เป็นมรดกให้กับลูกหลานได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขต่อไปในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า “เรา” ในฐานะคนมหาดไทย รวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมทุกท่าน จะต้องช่วยกันหาแนวทางในการขับเคลื่อนพระดำริ Sustainable Fashion, ผ้าไทยให้สนุก และหมู่บ้านยั่งยืน และต้องทำงานแบบ “ไม่ได้หน้าลืมหลัง” นำองค์ความรู้ที่พระองค์ท่านได้ถ่ายทอด ตั้งแต่การใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า การใช้กี่ทอผ้า ทั้งวิชาการแฟชั่นจาก Trendbook ทุกเล่ม ลวดลายผ้าพระราชทานทุกลวดลาย และหลักการตลาด Story Telling Packaging ที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับประชาชน และในเชิงความยั่งยืน ต้องทำให้เยาวชนใช้จินตนาการสร้างสรรค์ช่วยให้ผู้ใหญ่ทำชิ้นงานที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และต้องหมั่นลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกเพิ่มมากขึ้น ไปพบกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ช่วยกันบอกต่อว่า “ใช้ดีจนต้องบอกต่อ” สื่อสารเป็นลูกโซ่ว่า เรามีบุญที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงทำให้ดูแล้ว ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็น Ambassador ผ้าไทย สินค้าไทย ช่วยกันเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพหนักแน่นในการ Change for Good เพื่อให้สิ่งที่ดีในสายเลือดได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีดังที่เราได้รับพระราชทานแนวทางจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อที่เราทุกคนจะได้ร่วมสร้างสิ่งที่ดีและสร้างมรดกที่งดงามให้กับลูกหลานได้คงอยู่ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ดร.วันดี กล่าวว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศใดที่จะพระราชทานความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชนด้วยการทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนัก และพวกเราคนไทยโชคดีที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID – 19 พระองค์ทรงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการรื้อฟื้นและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ด้วยการพระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จนทำให้ “เสียงกี่ที่เงียบหาย” ได้กลับมากระทบถักทอผ้า สร้างความครึกครื้นแก่วงการผ้าไทยอีกครั้ง ดังผ้าลายพระราชทาน 8 ลาย จากกรรมวิธีผ่านกี่ทอผ้า ที่มียอดจำหน่ายกว่า 8 หมื่นล้านบาท ส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนชนบททั่วประเทศ มากไปกว่านั้นพระองค์ยังทรงให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมการตลาดเต็มรูปแบบและความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังพระราชดำริ Sustainable Fashion ที่เราจะต้องร่วมกันน้อมสำนึกในพระกรุณาคุณ “ช่วยกันสื่อสารถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องดังสายน้ำที่ไม่หยุดไหลไปทุกหนแห่ง”
ดร.ศรินดา กล่าวว่า ลายผ้าพระราชทาน นับตั้งแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และลายต่อ ๆ มา จะปรากฏรูป “หัวใจ”ที่เป็นพระประสงค์พระองค์ท่าน เพราะหัวใจของพระองค์ท่านคือประชาชน และลายผ้าได้พระราชทานในช่วง pandemic ที่พระองค์ทรงนึกถึงแต่ประชาชน และทรงทำถึงทุกวันนี้ จึงขอให้เราช่วยกันทำให้รายได้ประชาชนจากงานผ้าไทยไม่หยุดแค่นี้ และเพิ่มมากขึ้น ๆ ตลอดไป
คุณธนันท์รัฐ กล่าวว่า ในปีแรกที่มีการโค้ชชิ่งจนถึงปีนี้ พี่น้องภาคเหนือมี reaction การพัฒนาตนเองมากเป็นเท่าตัว ตอนนี้เรามี output และ outcome ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นผลผลิตเป็นชิ้นงานผ้าที่สร้างสรรค์อย่างลงตัวและหลากหลายที่ชัดเจนมากขึ้น เรียกได้ว่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เป็น circle มากขึ้น และในด้านที่ทรงให้ความสำคัญ คือ “เด็กและเยาวชน” ที่เป็นจุดอ่อนของผ้าไทย เพราะแต่เดิมผ้าไทยจะแต่งกันเฉพาะผู้ใหญ่ กระทั่งเราเริ่มจากการผลิต Young OTOP และทำต่อเนื่อง ปัจจุบันเรามีเครือข่ายเยาวชนคนทำผ้ามากกว่า 1,000 คน ที่ส่งออกผลงานทั้งในและต่างประเทศ และมีกระบวนการอย่างครบถ้วน เราภูมิใจที่เดินทางอย่างหนัก และเกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านวงการผ้าไทยอย่างชัดแจ้ง เพราะ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
นายสยาม กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มาจัดประกวด จำนวน 14 ประเภท โดยมีผู้ส่งผลงานผ้าและงานหัตถกรรม รวม 8,651 ชิ้น แบ่งเป็น ประเภทผ้า 8,117 ผืน งานหัตถกรรม 500 ชิ้น ซึ่งในส่วนของภาคเหนือ มีผู้ส่งผลงานประเภทผ้า 1,353 ผืน และงานหัตถกรรม 216 ชิ้น
นายวีระพงษ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การประกวดลายผ้าในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีช่างทอ ช่างปัก และผู้ผลิตผ้าส่งผลงานเข้าประกวด รวม 255 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นประเภทผ้า 173 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 82 ชิ้น
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1702/2567 วันที่ 31 ส.ค. 2567