เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 67 นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยถึง การปฏิบัติราชการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเลย โดยจังหวัดเลยได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จุดเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุทกภัยทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดเลย ประจำปี 2567 ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง (War Room) โดยมี นายกิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสามารถ หมั่นนอก ปลัดจังหวัดเลย พ.อ.คณิศร ชานพิมาย ผู้แทน ผบ.มทบ.28 หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมมีแนวทางในการแบ่งพื้นที่จุดเสี่ยงออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรกเป็นจุดเสี่ยงที่คาดว่าน้ำเลยจะล้น ซึ่งจะต้องหาทางระบายน้ำให้ได้ ภายใน 28 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป และส่วนที่ 2 ถ้าหากมีฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเตรียมเครื่องสูบน้ำ และจัดทำกระสอบทราย โดยขอสนับสนุนกำลังจากหน่วยงานต่าง ๆ และหน่วยงานทหารในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน
นายชัยพจน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมาภายหลังจากการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มอบหมายให้นายกิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำเลย 3 จุด คือ อ่างน้ำพาว ตำบลเมือง อ่างเก็บน้ำน้ำหมาน ตำบลน้ำหมาน และชุมชนบ้านติ้ว เทศบาลเมืองเลย
“สำหรับการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 จุด เริ่มจาก จุดที่ 1 คือ อ่างน้ำพาว ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำเต็มอัตราการเก็บ จึงจำเป็นต้องพร่องน้ำให้ไหลลงน้ำเลย โดยการขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำออก บริเวณบ้านกำเนิดเพชร เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก โดยได้ดำเนินการเปิดบานประตูระบายน้ำ 45 ซม. ระบายน้ำได้ วันละ 182,075,85 ลบ.ม./วัน จุดที่ 2 อ่างเก็บน้ำน้ำหมาน ซึ่งมีระดับการกักเก็บน้ำประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้สามารถพร่องน้ำเพื่อให้ในตัวอ่างมีพื้นที่ในการเก็บกักน้ำเพิ่ม เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนในช่วงนี้ได้ อ่างน้ำหมาน โดยได้ดำเนินการเปิดบานประตูระบายน้ำ 60 ซม. ทั้ง 2 บาน ระบายน้ำได้ 880,850 ลบ.ม./วัน นอกจากนี้ ได้มีการพร่องน้ำที่อ่างน้ำเลย โดยติดตั้งกาลักน้ำ ขนาด 8 นิ้ว 23 ชุด และขนาด 4 นิ้ว 63 ชุด พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 3,327,758 ลบ.ม./วัน รวมถึงได้เปิดบานประตูระบายน้ำศรีสองรักทั้ง 4 บาน ซึ่งสามารถระบายน้ำ ได้ 31,427,715.60 ลบ.ม./วัน” นายชัยพจน์ กล่าว
นายชัยพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดที่ 3 คือ การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ เทศบาลเมืองเลยได้ขุดลอกคลองระบายน้ำ จำนวน 7 จุด ได้แก่ จุดวัดมิ่งขวัญ จุดคลองสาธารณะข้างโรงแรมเลยพาเลซ จุดคลองครัวมะเดื่อ จุดคลองสาธารณะหนองแขละ จุดคลองสาธารณะข้างโรงเรียนเทศบาล 2 จุดคลองสาธารณะข้างวัดศรีวิชัย และจุดคลองสาธารณขอนแดง (ชุมชนบ้านใหม่) นอกจากนี้ ได้ปิดกั้นริมตลิ่งแม่น้ำเลย (จุดฟันหลอ) เพื่อป้องกันน้ำทะลัก ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 4 จุด คือ จุดข้างโรงเรียนเมืองเลย 1 จุด ขนาด 12 นิ้ว จุดข้างโรงเรียนอนุบาล 1 จุด ขนาด 10 นิ้ว จุดหน้าเทศบาลเมืองเลย ข้างไปรษณีย์ 2 จุด ขนาด 8 นิ้ว และจุดข้างสนามกีฬากลาง 1 จุด ขนาด 8 นิ้ว ที่เทศบาลนาอานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณคุ้มซำหลวง และโรงเรียนบ้านขอนแดง และที่ อบต.เมือง ได้ทำการขุดลอกเปิดทางน้ำที่บริเวณร้านหมูกระทะริมคลอง และสะพานบ้านน้ำภู พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณร้านหมูกระทะริมคลอง
นายชัยพจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จังหวัดเลย ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาอุทกภัยของจังหวัดเลยในปีนี้อย่างจริงจัง ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุพร้อมปฎิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามการแจ้งเตือนของทางราชการ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย แจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ผ่านนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1744/2567 วันที่ 6 ก.ย. 67