วันนี้ (11 ก.ย. 67) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมร่วมประชุมกับพลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุ “ยางิ” ในช่วงวันที่ 9-10 กันยายน ส่งผลทำให้อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนพี่น้องประชาชนและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งได้รับความเสียหาย
“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครที่กำลังบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายโดยเฉพาะอำเภอแม่สาย จึงได้มอบหมายให้ตนได้ลงพื้นที่มาติดตามสถานการณ์และให้การสนับสนุนภารกิจของทุกท่าน พร้อมทั้งได้กำชับให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทยเข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วมหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและภาคีเครือข่ายได้ให้การช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่เกิดสถานการณ์พร้อมทั้งได้รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพี่น้องข้าราชการทหาร และตำรวจ เป็นกำลังสำคัญกำลังหลักที่มีกำลังพลจำนวนมาก ในการร่วมกับฝ่ายพลเรือนให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และได้รับเสียงชื่นชมจากส่วนต่าง ๆ ว่าพวกเราทุกส่วนได้ช่วยกันในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอขอบคุณพี่น้องทุกท่าน ตลอดจนอาสาสมัคร และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน โดยตนจะประจำอยู่พื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อร่วมสนับสนุนภารกิจของทุกท่าน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย พบว่า ในห้วงวันที่ 9-10 กันยายน ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ 10 ตำบล 34 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (2 ชุมชน) ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ 2 แห่ง ดินสไลด์ 8 จุด ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,241 ครัวเรือน เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ได้แก่ 1) อำเภอแม่สาย เกิดน้ำท่วมพื้นที่ตลาดสายลมจอย และพื้นที่ชุมชนแม่สาย ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเกาะทราย ชุมชนไม้ลุงขน จำนวน 2 ตำบล คือ ตำบลแม่สาย และตำบลเวียงพางคำ รวม 16 หมู่บ้าน 2) อำเภอแม่ฟ้าหลวง เกิดเหตุดินสไลด์ จำนวน 8 จุด ในพื้นที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย 3) อำเภอเชียงของ เกิดน้ำท่วมพื้นที่ตำบลสถาน รวม 3 หมู่บ้าน 4) อำเภอเมืองเชียงราย เกิดน้ำท่วมชุมชนป่าแดง และชุมชนเกาะลอย ในเขตเทศบาลนครเชียงราย และพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยชมภู 5) อำเภอแม่จัน เกิดน้ำท่วมพื้นที่ตำบลแม่จัน บริเวณตลาดนวลจันทร์ และชุมชนหลังตลาด ตำบลป่าตึง บริเวณตลาดนวลจันทร์ และชุมชนหลังตลาด และตำบลแม่คำ แม่น้ำคำล้นตลิ่ง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อยู่ในระดับเฝ้าระวัง โดยมีฝนอ่อน – ปานกลางในบางพื้นที่ของจังหวัด และสำหรับภาพรวมระดับน้ำแม่น้ำสายหลัก มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้อยู่ในพื้นที่เพื่อบัญชาการเหตุการณ์ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน พร้อมทั้งลงพื้นที่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ด้วยการระดมสรรพกำลังบูรณาการทุกภาคส่วน และติดตามสถานการณ์รายงานผู้บังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง
“ตนได้เน้นย้ำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กำชับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และฝ่ายปกครอง ตลอดจนข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงฝ่ายปกครองท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระยะแรก Quick Wins ต้องน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้โดยเร็ว พร้อมทั้งดูแลด้านการประกอบอาหารเลี้ยง การส่งอาหาร การดูแลพื้นที่ศูนย์พักพิง การดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสื่อสารระบบสองทาง (Two-way Communication) คือ ทั้งการแจ้งเตือนประชาชน ควบคู่การติดตามข้อมูลจากช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่อาจมีประชาชนหรือภาคีเครือข่ายร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อจะได้เร่งตรวจสอบและเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที โดยต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการเข้าช่วยเหลือชีวิตประชาชน นอกจากนี้ ต้องเร่งตรวจสอบพื้นที่ที่อาจจะส่งผลกระทบกับชีวิตประชาชน เช่น พื้นที่ที่อาจมีดินสไลด์จากการที่ดินอุ้มน้ำเป็นเวลานาน รวมถึงการตัดไฟฟ้าเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าช็อต เป็นต้น และบูรณาการทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินประชาชนในหมู่บ้าน รวมถึงการดูแลประชาชนในศูนย์พักพิง ทั้งการประกอบอาหารเลี้ยง และการนำอาหารมอบให้กับประชาชนที่ยังพักอาศัยในพื้นที่บ้านแต่ไม่สามารถสัญจรได้ และดูแลด้านการแพทย์ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากน้ำด้วย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ทุกอำเภอต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ได้มีการทบทวนและซักซ้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “การป้องกัน” ทั้งการขุดลอกท่อระบายน้ำ การเก็บวัชพืช และระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ขอให้จังหวัดได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณสร้างเขื่อนพนังกั้นน้ำตามแนวริมตลิ่ง เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งน้อมนำพระราชดำริ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว สำหรับพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ใช้กลไกความร่วมมือในการประสานเพื่ออัปเดตสถานการณ์และเตรียมรับมือสถานการณ์ในครั้งต่อ ๆ ไป
“แต่ทั้งนี้ ในตอนนี้สถานการณ์ฝนที่ยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์กับทางราชการ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งเตือนทุกอำเภอเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งอย่างต่อเนื่อง และให้เตรียมความพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ กำลังพลพร้อมให้ความช่วยเหลือทันที ตลอด 24 ชั่วโมง และหลังสถานการณ์บรรเทาลง ให้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป โดยพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สแตนด์บายให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1766/2567 วันที่ 11 ก.ย. 2567