วันนี้ (14 ก.ย. 67) เวลา 11.19 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นประธานพิธีถวายปัจจัยเพื่อซื้อที่ดินถวายวัดเหล่าป่าตาล ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสีลสังวร (อาจารย์เบิ้ม) เจ้าอาวาสวัดเหล่าป่าตาล เป็นประธานสงฆ์ และพระเถรานุเถระ ประกอบพิธี
สำหรับการประกอบพิธีครั้งนี้ มีผู้ร่วมพิธีจำนวนมาก อาทิ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม นางณัฐธยา โปริมา ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ นายดำรงค์ เมืองมูล ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ นายพิเศษ นันต๊ะหม่น พัฒนาการอำเภอแม่แจ่ม นายอนุวัฒน์ สอนสุภาพ เจ้าพนักงานที่ดินหัวหน้าส่วนแยกแม่แจ่ม นายบุญนงค์ สุริยะชัยพันธ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชยุต ข่าขันมะลี ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 พร้อมคณะครู นักเรียน ร่วมพิธี นางภัทรลดา สุวรรณนวล กำนันตำบลแม่นาจร พร้อมผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ลัวะ ปกาเกอะญอ ม้งในพื้นที่
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่โต๊ะหมู่บูชา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประเคนขันขอศีลอาราธนาศีล 5 ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล นายสุทธิพงษ์ นำกล่าวถวายที่ดิน และถวายสังฆทาน ประธานสงฆ์ กล่าวสัมโมทนียกถาพร้อมเล่าความเป็นมาของการก่อตั้งวัด ผู้ร่วมพิธีกรวดน้ำรับพร พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วกล่าวลาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี และเดินทางไปตอกหลักไม้มงคลและปลูกต้นตาล เพื่อเป็นสิริมงคล
“ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้บริจาคเงิน 2,000,000 บาท ซื้อที่ดิน จำนวน 2 แปลง ตามโฉนดเลขที่ 7860 และเลขที่ 7861 ถวายวัดเหล่าป่าตาล เพื่อให้วัดในบวรพระพุทธศาสนามีความมั่นคงถาวร ใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งในทางพระพุทธศาสนาและศูนย์เรียนรู้ด้านพุทธอารยเกษตรสำหรับพี่น้องประชาชนตลอดไป และยุวชนคนรุ่นใหม่ตลอดไป“
พระครูศีลสังวร (หลวงพ่อเบิ้ม) กล่าวว่า วัดนี้เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายวัดแรกของอำเภอแม่แจ่ม เพราะแต่เดิมคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตยังไม่ได้สร้างวัดที่อำเภอแม่แจ่ม ทั้งนี้ อาตมภาพอุปสมบทที่วัดป่านาคนิมิตต์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ปฏิบัติธรรมตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แล้วจาริกไปที่จังหวัดน่านซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน กระทั่งมาถึงดอยอินทนนท์แห่งนี้ กระทั่งได้มาพบพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง เป็นป่ารกทึบที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีใครกล้าเข้ามา ต่อมาชาวบ้านได้ไปนิมนต์อาตมภาพถึง 3 ครั้งเพื่อมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จนได้มาอยู่ที่นี่ และได้พบว่า พื้นที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนวัดร้าง จึงได้ทำเรื่องต่อทางราชการยกเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา และได้เริ่มบูรณะวัด โดยได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมวชิรจินดาภรณ์ (เจ้าคุณตุ๊) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ผู้มีชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดลำปาง และด้วยเส้นทางสายบุญนี้เอง ทำให้ได้ทราบว่าท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นไวยาวัจกร เป็นลูกศิษย์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชส กลมหาสังฆปรินายก เป็นองค์อธิบดีสงฆ์ผู้ปกครองพระอารามหลวง
“ปฐมกฐินแห่งวัดเหล่าป่าตาลแห่งนี้ ได้รับเมตตาประทานผ้าพระกฐินจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก กระทั่งกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ และนอกจากการสร้างวัดสำเร็จแล้ว เรายังดูแลเด็ก ๆ ซึ่งได้อุปการะเด็กนักเรียนมากกว่า 70 คน กระทั่งได้ใช้ชีวิตที่มีความสุข ร่ำเรียนสำเร็จการศึกษากลับมาอุปถัมภ์ดูแลวัด”
ซึ่งการประกอบพิธีถวายที่ดินในวันนี้ นับเป็นสิ่งอันเป็นมิ่งมงคล อันเกิดจากประธานอุปถัมภ์ นั่นคือ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และดร.วันดี กุลชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยที่ดินในพระพุทธศาสนาจะไม่หายไปไหน เพราะที่ดินในพระพุทธศาสนาตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ สานต่อสืบต่อมงคลแห่งที่ดินนี้ที่แต่เดิมเป็นวัดร้างมาพันกว่าปี สะท้อนจากสิ่งก่อสร้างที่ได้ขุดค้นพบ ซึ่งเป็นของใช้ของพี่น้องชาวลั๊ว และพระพุทธรูปสำคัญในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มก็ไปจากวัดนี้ ดั่งองค์สีเขียวที่ทุกคนได้เห็นนี้เป็นแก้วปู่ฮอด มีนามว่า “พระแจ่มแก้วพญาคำ” ให้เป็นที่สักการะของพวกเราทุกคน”
พระครูสีลสังวร (อาจารย์เบิ้ม) กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราผู้เป็นผู้สืบทอดบวรพระพุทธศาสนาจะได้นำความปรานาอันดีของท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และดร.วันดี กุลชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ทำให้ก่อเกิดประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาให้มาก ทั้งพระเณรและประชาชน ซึ่งเราได้ใช้เป็นพื้นที่ทำนาสำหรับเกี่ยวข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งจัดกิจกรรม “ร้อยต้นร้อยดวงใจปลูกต้นตาลไว้ในแผ่นดินธรรม” ซึ่งได้ปลูกไปแล้ว 98 ต้น วันนี้จะปลูกเป็นต้นที่ 99 และ 100 โดยทั้ง 2 ท่าน และใช้สถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งกิจกรรมวันดินโลก และกิจกรรมอื่น ๆ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอกราบขอบพระคุณในเมตตาคุณของพระเดชพระคุณพระครูสีลสังวร หรือ “พระอาจารย์เบิ้ม” ของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอแม่แจ่ม ผู้เป็นหลักชัยในการหนุนเสริมบทบาทคณะสงฆ์ในการทำให้ประชาชนพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนได้มีสิ่งที่ดีในชีวิต ได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้ควบคู่คุณธรรมจริยธรรมการใช้ชีวิตในทุกมิติ อันสอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับมหาเถรสมาคม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5”
“วัดเหล่าป่าตาลแห่งนี้ เป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดกิจกรรม “การทำดีเพื่อส่วนรวม ทำดีเพื่อประเทศชาติโดยไม่คิดถึงเรื่องส่วนตัว” ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ในพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำมาหากิน เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของทุกท่าน ยังผลให้ต้นไม้ได้มีโอกาสฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมด้วยสองมือ หนึ่งหัวใจของคนแม่แจ่มทุกคน นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ซาบซึ้งใจ และอนุโมทนากับชาวอำเภอแม่แจ่มที่ได้ทำบุญให้กับโลกของเรา โดยที่วัดแห่งนี้ จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าแผ่ไพศาลอย่างไพบูลย์ ทั้งทางโลก ทางธรรม นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีมีสุขอย่างยั่งยืนของประชาชน และความสดใสของมวลมนุษยชาติ และในท้ายที่สุด ก็จะทำให้แผ่นดินไทยของเราเป็น “แผ่นดินทอง แผ่นดินธรรม” ที่เต็มไปด้วยความรัก ความสามัคคี ความเสียสละตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่พระเดชพระคุณพระครูสีลสังวร ได้กล่าวให้พวกเราทุกคนได้รับรู้รับทราบถึงความเป็นมาของวัดเหล่าป่าตาล อันมีความเป็นมานับเนื่องกว่า 1,000 ปีนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนเพื่อ เสริมสร้างความภาคภูมิใจ ความหวงแหน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาชนคนไทย ผ่านการ “บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ถ่ายทอดส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งวัดเหล่าป่าตาลแห่งนี้มีจุดแข็ง ในเรื่องของการมีภาคีเครือข่าย ที่เป็นการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นคือหลัก “บวร” ทั้งบ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน จึงขอฝากให้ท่านนายอำเภอแม่แจ่ม ผู้นำการบูรณาการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขในพื้นที่ ได้นำทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกับวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ช่วยกันดูแลและขยายผลสิ่งที่ดี คือ ประวัติศาสตร์ของวัดเหล่าป่าตาลแห่งนี้ ด้วยการหนุนเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชน ลูก ๆนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 ด้วยการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และฝึกปฏิบัติด้วยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นมัคคุเทศก์น้อย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาสวดมนต์ไหว้พระ เป็นผู้นำศาสนพิธีกรในการประกอบพิธีต่าง ๆ ของวัด และของชุมชน อันจะทำให้สิ่งที่ดี ทั้งพื้นที่วัดเหล่าป่าตาล และเรื่องราวอันดี ได้ดำรงคงอยู่คู่กับอำเภอแม่แจ่ม คู่กับจังหวัดเชียงใหม่ คู่กับประเทศไทย และโลกใบเดียวนี้ ของพวกเราทุกคนอย่างยั่งยืนสืบไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1792/2567 วันที่ 14 ก.ย. 2567