เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2567 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม ได้นำหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่อำเภอวังยาง เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและมหาดไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ประกอบด้วย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เกษตรจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด พัฒนาการจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และประมงจังหวัด มีนางสาวภิรมย์ ก้อนแพง นายอำเภอวังยาง หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมต้อนรับและร่วมประชุม ณ หอประชุมอำเภอวังยาง
“ในโอกาสนี้ได้มีการจัดพิธีบายศรีให้แก่ตน และนายกเหล่ากาชาดด้วย เพื่อเป็นการขอบคุณและแสดงมุทิตาจิตเพื่อความเป็นสิริมงคลตามประเพณีท้องถิ่นของคนอีสาน ในโอกาสที่ตน จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จากนั้นตนและคณะ ได้เดินทางไปมอบบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสที่ยากไร้ จำนวน 1 หลัง พร้อมอุปกรณ์เครื่องนอน เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งก่อสร้างด้วยเงินและวัสดุก่อสร้างของผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมกันบริจาค โดยใช้ช่างจิตอาสาของอำเภอวังยางโดยไม่คิดค่าแรงงาน ในพื้นที่อำเภอวังยาง จังหวัดนครพม” นายวันชัยฯ กล่าวในช่วงต้น
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่ออีกว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ตนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น มีบ้านที่มั่นคง มีอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัว และพัฒนาการศึกษา โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้มุ่งเน้นการพัฒนาไปที่อำเภอนาทม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้นำโมเดลการพัฒนาอำเภอนาทม มาพัฒนาต่อที่อำเภอวังยาง เนื่องจากประชาชนมีรายได้ละ 45,000 บาทต่อคนต่อปี ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของจังหวัดนครพนมซึ่งอยู่ที่ 87,000 บาทต่อคนต่อปี จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษจึงให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีงบประมาณโครงการไปดำเนินการในพื้นที่อำเภอวังยางมากเป็นพิเศษ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ระบบชลประทาน ระบบประปาหมู่บ้าน ระบบไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่กับการพัฒนาส่งเสริมอาชีพหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ให้มีรายได้เสริม เช่น การปลูกมันฝรั่ง ปลูกกล้วย เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังได้เข้ามาดูแลกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ห้องน้ำ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าตนจะเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ก็ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้สานต่อโครงการต่าง ๆ ต่อไปด้วย
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการภายใต้โครงการ “จังหวัด/อำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็น “Key Success” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนในพื้นที่ ขยายผลต่อยอดไปสู่การร่วมมือกันของ 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งการทำงานจะสำเร็จอย่างยั่งยืนและจะมีพลังได้ ต้องอาศัยผู้นำของกระทรวงมหาดไทย ในการผลักดันขับเคลื่อนด้วยหัวใจ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตาม 4 กระบวนการทำงานอย่างยั่งยืน ดังนั้น หน้าที่คนมหาดไทย ทุกกรมและทุกรัฐวิสาหกิจ รวมถึงพี่น้องข้าราชการทุกกระทรวง ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ งาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เปรียบเสมือน “แม่น้ำทั้งร้อยสายไหลมารวมกันเป็นมหาสมุทร” ทุกคนจึงต้องมีหัวใจในการทำให้การขับเคลื่อนงานสำเร็จ เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวในช่วงท้ายว่า ในการมอบนโยบายครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ตนได้เดินทางมาติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่อำเภอวังยาง โดยขอเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำงานด้วยกระบวนการสร้างทีมงานเครือข่ายที่เข้มเเข็งแล้ว ยึดพี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลางมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะพี่น้องกลุ่มเปราะบาง เพื่อหาเเนวทางในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมเเละเสมอภาค สิ่งสำคัญของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐต้องอุทิศกายและใจเพื่อส่วนรวมในการที่จะเป็นตัวเชื่อมประสาน เป็นโซ่ข้อกลางให้กับทุกภาคส่วน และเป็นผู้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นรูปธรรม ตามปณิธานแห่งการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข นอกจากนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนทุกคน หมั่นติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก และเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัย โดยถ้าหากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ หรือต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ สามารถโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 และสายด่วนนิรภัย 1784 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1849/2567 วันที่ 21 ก.ย. 2567