วันนี้ (22 ก.ย. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตน พร้อมด้วย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นางสาวประภาพรรณ วุ่นสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก” ของนายอดุลย์ วิเชียรชัย เลขที่ 107 หมู่ที่ 14 ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายประจัญ จันทร์เนตร์ พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี นายอดุลย์ วิเชียรชัย ประธานศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก นายสุนทร แววมะบุตร ผู้นำต้นแบบและประธานศูนย์จิตอาสาอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดปทุมธานี และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ และพร้อมใจกันร่วมลงพื้นที่ด้วย
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ฯ และคณะ ได้ร่วมรับฟังการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นวิถีชีวิตอย่างหลากหลาย เช่น ป้านา ลาดหลุมแก้ว และผู้ใหญ่มานะ เป็นต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ “น้องอดุลย์” และ “น้องสุนทร” ผู้นำต้นแบบในการน้อมนำหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในรูปแบบ โคก หนอง นา อารยเกษตร ซึ่งในวันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมและให้กำลังใจที่ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก หลังจากที่ตนเคยได้มาเยี่ยม เยือนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 29 ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา อารยเกษตร” จนปัจจุบันได้ต่อยอดขยายผลเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ที่ทำให้คนในชุมชนและทุกพื้นที่ได้มาศึกษาเรียนรู้เรื่องโคก หนอง นา อารยเกษตร ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน
“การลงพื้นที่ในวันนี้ตนและคณะ มาเพื่อให้กำลังใจ ดังที่ได้กล่าวอยู่เสมอว่า การทำงานของข้าราชการ ตลอดจนถึงพี่น้องประชาชน เรื่องสำคัญคือ “ความยั่งยืน” ซึ่งการได้มานี้ นอกจากเป็นการตรวจเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการแล้ว ยังเป็นการสื่อสารกับสังคมว่า สิ่งที่น้องอดุลย์และครอบครัวตลอดจนภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการอยู่เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในชุมชนและสังคมโดยรวมมีความสุข ซึ่งน้องอดุลย์เปรียบเสมือน Brand Ambassador ผู้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่า การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ตลอดจนอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นแนวทางที่จะทำให้เราและสังคมโดยรวมมีความสุข ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจที่ทำให้โลกของเราได้มีอายุที่ยืนยาว และนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ในการร่วมดูแลรักษาโลกใบเดียวนี้ของเราให้ยั่งยืน และยังเป็นการสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า การเป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือการเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางในการดึงดูดให้คนในชุมชนและพื้นที่โดยรอบได้นำแบบอย่างของแปลงโคก หนอง นา อารยเกษตรของน้องอดุลย์ไปประยุกต์ใช้เป็นวิถีชีวิตให้กับคนบ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของการพึ่งพาตนเองด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งต้องขยายผลสู่โรงเรียนในพื้นที่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักสวนครัวเป็นอาหาร การบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญคือการทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็น “Action Learning Center” ด้วยการทำให้รัศมีความดีขยายไปสู่ชุมชนโดยรอบอย่างน้อย 10 ครัวเรือน ซึ่งทางจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งผู้นำในพื้นที่ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องช่วยกันวางระบบให้เกิดการขยายผลไปสู่พื้นที่โดยรอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นโคก หนอง นา แต่เป็นการนำรูปแบบการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในครัวเรือนในลักษณะ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้เกิดขึ้น
“ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเชิงระบบของการพัฒนาพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยได้ผลักดันเรื่องการพัฒนาบุคลากร โดย ให้พัฒนากรของกรมการพัฒนาชุมชนได้ไปศึกษาอบรมเรียนรู้และประจำอยู่ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน (ศพช.) ทั้ง 11 แห่ง อาทิ การทำการเกษตร การสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างทักษะในการดำรงชีวิต และสามารถพัฒนายกระดับให้ ศพช. เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่สามารถถ่ายทอดให้กับคนที่มาศึกษาเรียนรู้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน เรามีทั้งกลุ่ม OTOP ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีองค์ความรู้ในการดำรงชีวิต ที่จะสามารถมาถ่ายทอด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ฝึกอบรมให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายอดุลย์ วิเชียรชัย ประธานศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก ได้พัฒนาขยายผลจากการเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา อารยเกษตร แปลงครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล แปลงระดับก้าวหน้า ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จนเป็น “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก” อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อารยเกษตรที่นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยมีหลักสูตรการประกอบอาชีพ การน้อมนำศาสตร์พระราชา ทั้งทฤษฎีใหม่ หลักบันได 9 ขั้น และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์สู่โคก หนอง นา และอารยเกษตร ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้นำภาคศาสนา ที่เข้ามาสนับสนุน และขับเคลื่อนทำให้เราสามารถต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนได้
“สิ่งที่เราทำในพื้นที่ เราทำด้วยความรู้จริง โดยใช้องค์ความรู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่เคยทำการเกษตร ประกอบกับความรู้ที่ได้จากการอบรม โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำให้เราสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ พัฒนา ต่อยอด ตามบริบทหรือตามภูมิสังคม ดังนั้น การถ่ายทอดองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงเพื่อสร้างความสำเร็จหรือสร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชนจึงเป็นหัวใจหลักในการพัฒนา อีกทั้งการจับมือรวมกลุ่มกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ซึ่งสิ่งที่เราดำเนินการอยู่ต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำ โดยปัจจุบันเรามีเครือข่ายทั้งจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมกันจนสามารถพัฒนาต่อยอดพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักสากล ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้โคก หนอง นา อารยเกษตร โดยการสอดแทรกหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาดินและน้ำ ซึ่งสิ่งที่เราทำทั้งหมดนั้นเราทำด้วยหัวใจหนึ่งเดียวกันในการเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบและประสบความสำเร็จ รวมทั้งจะเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนทุกเพศทุกวัยในชุมชน เป็นเกราะป้องกันในการดำเนินชีวิต ด้วยคำว่า “โคก หนอง นา อารยเกษตร”
นายสุนทร แววมะบุตร กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เราจับมือร่วมกันต่อยอดขยายผลเพื่อสร้างการรวมกลุ่มในการแข่งขัน เพิ่มรายได้ ซึ่งมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทั้งปลาในบ่อ ไข่ไก่ที่เลี้ยง พืชผลผลิตที่ได้จากแปลงโคก หนอง นา พร้อมทั้งขยายผลไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งที่แปลงโคก หนอง นาของเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังได้มีการจัดกิจกรรม “โคก หนอง นา พาทัวร์” ในพื้นที่อำเภอบ้านแพรก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อีกทั้งยังมีศูนย์การเรียนรู้ 9 ฐาน จากบันได 9 ขั้น ต่อยอดจากขั้นพื้นฐานสู่ขั้นก้าวหน้า โดยขับเคลื่อนร่วมกันกับทุกภาคส่วน และ 7 ภาคีเครือข่ายในลักษณะการเป็นผู้นำจิตอาสาตามนโยบายและข้อแนะนำของท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังผลให้เกิดรูปธรรมที่สมบูรณ์ และเราจะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1850/2567 วันที่ 22 ก.ย. 2567