วันนี้ (24 ก.ย. 67) เวลา 10.00 น. ที่อุโบสถวัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส งานบำเพ็ญกุศลถวายเนื่องในวันครบรอบมรณภาพ 38 ปี พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย รูปที่ 6 อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม อดีตประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกาย โดยได้รับเมตตาจากพระมหาคณาจารย์จีนธรรมวชิราจารย์ (เย็นอี่) ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เย็น ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์จีนนิกาย พระคณาจารย์จีนธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) ปลัดขวาจีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส เลขานุการคณะกรรมการคณะสงฆ์จีนนิกาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมี นายไชยไว พูนลาภมงคล นายกสมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย นายกกิตติมศักดิ์เกียรติคุณถาวร สมาคมวิเทศพาณิชย์ไทย-จีน ประธานอุปถัมภ์ นายนราพล โพธิ์สุวัฒนกุล รองประธานมูลนิธิส่งเสริมศีลธรรมสงเคราะห์ นายสมคิด ผดุงวิจิตรชัย เหรัญญิกสมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย นายอรัณย์ โตทวด ผู้จัดการใหญ่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายกิตติ ตันทนะเทวินทร์ แขกกิตติมศักดิ์ชมรมมหายาน คณะคฤหบดี ศิษยานุศิษย์ พุทธบริษัทไทย-จีน ร่วมพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายสักการะพระคณาจารย์จีนธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) ปลัดขวาจีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส เลขานุการคณะกรรมการคณะสงฆ์จีนนิกาย พระสงฆ์จีนนิกายประกอบพิธีถวายพุทธบูชา เสร็จแล้วผู้ร่วมพิธีพร้อมกันที่วิหารบูรพาจารย์ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ประธานพิธี ประธานอุปถัมภ์ และรองประธานพิธี จุดธูปเทียนบูชาสรีระจริงพระเดชพระคุณ อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย รูปที่ 6 (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ถวายบูชาจบแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ จากนั้นผู้ร่วมพิธีร่วมถวายเครื่องสักการะหน้าประดิษฐานสรีระจริง พระเดชพระคุณอดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย รูปที่ 6 (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) และกราบสักการะ เป็นอันเสร็จพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) สมณนาม “เล่งที้” ฉายา “โพธิ์แจ้ง” นามเดิมชื่อ “ทง” กิดเมื่อวันที่ 16 เดือน 6 ปีขาล ตามปฏิทินจีน ปี พ.ศ. 2444 มีภูมิลำเนาเดิมเป็น ชาวอำเภอ กิ๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน บรรพชาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2471 ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน (เซ็งจุ้ยยี่) พระพุทธบาทสระบุรี มีสมณนามว่า “เล่งที้” (แปลว่าสามารถรักษา) ฉายา “โพธิ์แจ้ง” (“สมันตวิศุทธ” บริสุทธิ์ทั่ว) อุปสมบท เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2477 ณ พระอารามล่งเชียงยี่ (ฮุ่ยกือยี่) ภูเขาป๋อฮั้วซัว มณฑลกังโซว โดยมีพระวินยาจารย์กวงย๊วก เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งสำนักปฏิบัติธรรมวินัยแห่งนี้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีระเบียบวินัยและเคร่งครัดที่สุดของจีน เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมกับท่านอาจารย์เพิ่มเติมมาอีก 2 ปี
“เมื่อปี พ.ศ.2479 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ได้จาริกกลับประเทศไทย เพื่อเผยแผ่พระธรรมและประสบการณ์ความรู้ที่ได้รับแก่พุทธบริษัทในประเทศไทย เพื่อนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติ ในปีเดียวกันนี่เอง ได้สร้างสำนักสงฆ์หลับฟ้า บริเวณพื้นที่ด้านข้างสำนักสงฆ์หมี่กัง สะพานอ่อน ปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระอาจารย์ ฮ่งเล้ง (ลิบห่วยผ่อสัก) ศิษย์ผู้พี่ที่ได้ปฏิบัติภาวนาจนดับขันธ์ในอิริยาบทยืน ณ บริเวณเจดีย์เชียงฮู้ อำเภอเตี่ยเอี๊ย ประเทศจีน จากนั้นได้จาริกธุดงค์บำเพ็ญบารมี ไปจนกระทั่งถึงแคว้นไซคัง (ภาษาทิเบต เรียกว่า “คาม” ธิเบตตะวันออก) ท่านได้ศึกษาลัทธิมนตรยาน กับพระสังฆราชา “วัชระนะนาฮูทู้เคียกทู้” ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งของธิเบต พ.ศ. 2490 จึงได้จาริกกลับประเทศไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการเดินทางกลับประเทศไทย ท่านมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติศาสนกิจในพระพุทธศาสนาโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร ท่านมีเมตตาต่อทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นพระมหาเถระผู้รัตตัญญู มีเมตตาธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในกตัญญุตาธรรม ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดในคณะสงฆ์จีนนิกาย อาทิ วัดเทพพุทธาราม วัดทิพวารีวิหาร วัดจีนประชาสโมสรและก่อสร้างวัดโพธิ์เย็น วัดโพธิ์แมนคุณาราม วัดโพธิทัตตาราม วัดมังกรบุปผาราม ตลอดระยะท่านได้ฟื้นฟูประเพณีการทอดกฐินที่ขาดช่วงไปกว่า 40 ปี พร้อมทั้งได้พัฒนาสังฆกรรมขึ้นหลายด้านให้เหมาะแก่กาลสมัยและสภาพแวดล้อม ทั้งยังส่งเสริมการศึกษา อุปถัมภ์ให้มีการแปลพระธรรมคำสอน หลักธรรมฝ่ายมหายานเพื่อเผยแผ่ให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปมีความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีการจัดทำพจนานุกรมพระพุทธศาสนา จีน สันสกฤต อังกฤษไทย ปทานุกรมบาลี – จีน เพื่อเป็นคู่มือช่วยในการศึกษาค้นคว้า
“นอกจากนี้ ท่านได้บริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาล บำเพ็ญกุศลสาธารณสงเคราะห์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังได้สร้างสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ไว้อีกหลายแห่งให้เป็นที่พำนักเพียงพอแก่ความต้องการของพระภิกษุ สามเณร เพราะกุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี และได้นำคณะสงฆ์จีนนิกายเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ท่านได้รับอาราธนาจากศิษยานุศิษย์ ในประเทศฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ลาว เป็นต้น ขอให้ท่านนำคณะธรรมทูตเดินทางไปยังประเทศนั้น ๆ ในหลายโอกาส ทำให้พระพุทธศาสนิกชนชาวต่างชาติ ได้บังเกิดความเข้าใจในพุทธธรรมเป็นอย่างดี จึงทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย และชาวจีน ทั้งในและนอกประเทศรู้จักพระพุทธศาสนา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์จีนนิกายดียิ่งขึ้น โดยหลังจากเริ่มดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายแล้ว ท่านก็ได้บริหารปกครองคณะสงฆ์จีนนิหาย ตลอดจนศาสนิกชนนานัปการโดยมิได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย จนมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 ท่านก็ได้เริ่มอาพาธลงด้วยโรคโลหิตอุตตันในสมองถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2529 เวลา 07.30 น. ณ โรงพยาบาลธนบุรี รวมสิริอายุได้ 85 ปี 5 เดือน 11 วัน 61 พรรษา สรีระสังขาร ของท่านประดิษฐาน ณ วิหารบูรพาจารย์ วัดโพธิ์แมนคุณาราม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1862/2567 วันที่ 24 ก.ย. 2567