เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565” โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้อง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายทินกร บุญเงิน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมกันนี้ได้มี นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นางสาวธิพิชา โปษยานนท์ นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย ข้าราชการ คณะทำงานสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกท่านจะได้มาร่วมกันประชุมและรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเครื่องสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ 2565 ซึ่งแน่นอนว่าการขับเคลื่อนด้านการดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นอีกหนึ่ง Function ที่สำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของชาวมหาดไทยอย่างยั่งยืน เพราะสุขภาพเปรียบเสมือนกรอบชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ เมื่อมีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งถึงแม้ว่ากระทรวงมหาดไทยอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลสุขภาพและระบบสาธารณสุข แต่เรามีภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญได้เข้าร่วมขับเคลื่อนงาน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคส่วนอื่น ๆ ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนงานในด้านการส่งเสริมดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน แต่ทว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เราได้มีการทำแบบแยกส่วนมานาน ดังเช่นเมื่อวานนี้ ตนได้ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือกับเพื่อนโครงการต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการหกล้ม กระดูกหัก หักซ้ำ ในผู้สูงอายุไทย ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้คนส่วนมากจะมองว่าเราได้ดำเนินการแบบแยกส่วน เพราะเมื่อพูดถึงออร์โธปิดิกส์ ก็จะคิดว่าเป็นการดูแลเฉพาะผู้สูงอายุที่อาจมีความเสี่ยงในการกระดูกหักเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วตนมองว่าเราควรดูแลทุกช่วงวัยมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา เพราะทุกเรื่องสามารถเกิดขึ้นกับเราทุกคนได้ และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ดังนั้น เรื่องกระดูกหักจึงไม่ได้เจาะจงแค่คนแก่ เพราะเด็ก ๆ เองก็สามารถกระดูกหักได้เช่นกัน แต่เพียงคนแก่อาจจะต้องได้รับการดูแลมากขึ้นเนื่องจากอาจจะหักซ้ำได้
““การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” จึงมีความเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาความสุขที่ต้องเริ่มจากสุขภาพกายและจิตใจ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงคำนิยามที่เรามักเชื่อมาตั้งแต่อดีตที่ว่า คนไทยต้องมีชีวิตวนเวียนเพียงแค่ “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งตนมองว่าคำว่าโง่ในที่นี้ ไม่ใช่เป็นการกล่าวหาว่าชาวบ้านโง่ แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดังเช่นในด้านสุขภาพ เพราะเมื่อเราไม่รู้ว่าสุขภาพต้องดูแลให้ถูกต้องอย่างไร ก็ย่อมไม่รู้วิธีรักษาเมื่อตนป่วยไข้ และเมื่อไม่ได้รักษาก็ย่อมไม่หายดีส่งผลให้ไม่สามารถประกอบสัมมาชีพ ขาดรายได้ และยากจนในที่สุด วันนี้ ตนจึงอยากฝากให้เข้าใจว่างานการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นเนื้องานหนึ่งของชาวมหาดไทย ไม่ใช่เพียงแค่งานของฝ่ายสาธารณสุขอย่างเดียว โดยเราจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ต้องมีการ Action ในระดับพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะว่าเรามีกลไกในระดับพื้นที่เพื่อการดำเนินงานร่วมกับทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในรอบการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาอำเภอ และแผนพัฒนาท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนแนวทางดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศอย่างเต็มที่ โดยล่าสุดได้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนงานมาแล้ว 31 จังหวัด ซึ่งหลังจากนี้ ต้องขอให้กรมการปกครองได้จัดทำระบบติดตามผลในรูปแบบ MOI War Room ที่สามารถออกแบบการติดตามผลให้ท่านนายอำเภอสามารถส่งเอกสาร รูปภาพ และวีดิโอของการทำงานที่รวดเร็วและชัดเจน และในขณะเดียว ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจแนวนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพของกระทรวงมหาดไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีการ Action ในเชิงนโยบายผ่านการจัดทำแนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ต.ค. 2567 ซึ่งจะเป็นการวางแผนการดำเนินกิจกรรมที่ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิดจนวัยชราและเสียชีวิต เพื่อเป็นกรอบการทำงานให้กับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ซึ่งทุกส่วนนี้ต้องทำให้สอดคล้องกัน โดยในด้านข้อมูลนั้น ต้องมีการวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของแนวนโยบายและกิจกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาในแต่ละพื้นที่ให้สามารถนำแนวนโยบายไปประยุกต์ใช้กับลักษณะของผู้คนของตนอย่างถูกต้อง เช่น หากพื้นที่ใดมีปัญหาเด็กคลอดก่อนกำหนด มีเด็กพิการจำนวนมาก หรือมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต แต่ละท้องถิ่นก็จะต้องปรับจุดแข็งจุดอ่อนของแนวนโยบายให้เหมาะสมกับปัญหาเป็นกรณีไป นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังจะต้องมีการกำหนดกิจกรรม จัดทำโครงการ เพื่อขอใช้งบประมาณของ อปท. ซึ่งจะเป็นกิจกรรมทุกช่วงวัย ตั้งแต่ ตั้งครรภ์ เกิด โต จนถึงวัยชรา หรือกิจกรรมฝึกศีลธรรม สวดมนต์ไหว้พระ ฝึกเด็กคัดเเยกขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง การปลูกผักเลี้ยงไก่ ซึ่งเราต้องช่วยกันออกแบบการทำกิจกรรมพัฒนาเชิงบวกที่เป็นพื้นฐานการใช้ชีวิต สร้างสัมมาคารวะ กล้าแสดงออก ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย อันประกอบด้วย คารวธรรม ปัญญาธรรม และสามัคคีธรรม โดยกิจกรรมที่กำหนดเหล่านี้จะกลายเป็นแม่แบบ ให้กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้หยิบเลือกเอาไปใช้ขับเคลื่อนดำเนินการได้อย่างสะดวก
“ทุกท่านในที่ประชุมนี้ ในฐานะข้าราชการส่วนกลาง จะต้องช่วยกันสนับสนุนการจัดทำแนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพให้แก่ทุกอปท.ได้นำไปปรับใช้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น และเป็นแนวทางแก่ท่านนายอำเภอเพื่อจัดทำรวมเข้ากับแผนพัฒนาอำเภอด้วย เพราะนายอำเภอมีความสำคัญในการอนุมัติแผนต่าง ๆ ดังนั้น นายอำเภอจึงต้องได้รับทราบ เข้าใจ และรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องจากท้องถิ่น มากไปกว่านั้น เพื่อเป็นการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน นายอำเภอจะต้องมีการจัดประชุมคณะทำงานโดยให้นายก อปท. และปลัด อปท. ทุกแห่ง เข้ามารับทราบแนวทางการดำเนินนโยบายที่ส่วนกลางกำหนด เพื่อหารือร่วมกันออกแบบการยกร่างแผนพัฒนาท้องถิ่นและแผนพัฒนาอำเภอในหมวดการสนับสนุนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่สอดคล้องกับแนวทางของส่วนกลาง เพื่อที่จะเป็น The Best ในการดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ทุกพื้นที่ โดยแต่ละอำเภอและท้องถิ่น จะต้องมีการดำเนินการทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพ และไม่เกินวันที่ 30 พ.ย. 2567 ทุกพื้นที่จะมีแผนดำเนินงานเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้วางเอาไว้ต่อไปในช่วงเดือน ธ.ค. 2567” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ต้องขอฝากให้ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้สนับสนุนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย กรมในสังกัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ให้มีศักยภาพสามารถดำเนินงานที่ตอบโจทย์การทำงานของ สช. อย่างต่อเนื่อง และพวกเราชาวราชสีห์ทุกคนต้องเอาจริงเอาจังกับการทำงานอย่างเต็มที่ คอยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างความรัก ความสามัคคี ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้สุดกำลังความสามารถ โดยวันที่ 9 ต.ค. นี้ แผนการดำเนินงานด้านสุขภาพจะถูกส่งไปยังอำเภอและอปท. และภายใน 30 พ.ย. ทุก อปท. จะได้ดำเนินการ Rewrite ทำแผน อปท. ให้เสร็จสิ้นเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป โดยทาง สช. สามารถจัดประกวดการดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนงานสุขภาพต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อคอยกระตุ้นให้ทุกพื้นที่ได้มีความตั้งใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตนเชื่อมันว่า การขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างระบบสุขภาพให้แก่พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย คนมหาดไทยทุกคนจะตั้งใจ ร่วมกันทำงานออกมาให้ดีที่สุด เพราะ “หัวใจของเราคือพี่น้องประชาชน” เราจะสร้างสังคมที่มีคุณภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความสุขกายและสุขใจ อันจะส่งผลให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้สัมฤทธิ์ผล เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในมิติด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกท่านที่ได้ร่วมดำเนินงานด้วยกันมาตลอดเป็นอย่างดี จนเกิดเป็นการประสานแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพสู่แผนพัฒนาจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา การทำงานมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และต่อจากนี้เราจะได้ยกระดับการทำงานให้มีความเข้มข้นเพื่อบูรณาการกับทุกภาคส่วนในเชิงพื้นที่ โดยมีเป้าหมาย คือ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1863/2567 วันที่ 24 ก.ย. 2567