เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 67 เวลา 08.00 น. ที่อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรมเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน ประจำปี 2567 โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาระดับกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการทุกระดับ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ธงชาติไทยเราเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะว่าเรามีเป็นสัญลักษณ์เป็นศูนย์รวมของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทยเรา ประกอบด้วย 3 สถาบันหลัก ได้แก่ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะราชสีห์ผู้จงรักภักดีต่อแผ่นดินต่างมุ่งมั่นในการเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติทั้ง 3 ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช และความเสียสละของบรรพบุรุษไทย ด้วยการมุ่งมั่นร่วมกันทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาค เพราะพวกเราทุกคนคือพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านนอกจากจะทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจไทยทั้งชาติแล้ว ยังทรงเป็นเอกกษัตริย์ผู้ทรงทำให้ประเทศชาติของเราเป็นปึกแผ่น เป็นเอกราช และไม่ว่าคนไทยจะมีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อต่าง ๆ ทุกคนก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความสุขอย่างยั่งยืนใต้ร่มพระบารมี เป็น Unity หนึ่งเดียวกัน จะอยู่เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ซึ่งแต่ละภูมิภาคล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า วิถีชีวิต หรือความเชื่อหรือภาษา ศาสนาที่แตกต่างกัน แต่เราหลอมรวมกันได้เพราะ “พระมหากษัตริย์”
“ในฐานะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตนขอฝากพวกเราชาวมหาดไทย ดึง passion ความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรา ด้วยการทุ่มเททำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพี่น้องประชาชนในทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำคัญที่สุด คือ การน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้พวกเราทุกคน นับเนื่องแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งคำว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และคำว่า “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องน้อมนำมาเป็นหลักชัยในการปฏิบัติราชการงานของแผ่นดินอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้พระราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการเกิดสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งเป็นไปตามแนวพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้ประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง มาประดิษฐานไว้ในหัวใจพวกเราทุกคนเพื่อเตือนใจและทำหน้าที่ในทุกเวลานาที” ในด้านศาสนาก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา ทั้งพระพุทธศาสนา และศาสนาต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่สอนให้คนเป็นคนดี ซึ่งคำว่า “คนดี” นั้น คือคำตอบของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมในสังคมทุกชนิด เพราะว่าทุกคนเป็นคนดีจากการยึดมั่นในศาสนา ร่วมกันปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามหลักคำสอน เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสุข” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ธงชาติไทยเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราในการประกอบกิจการชีวิตประจำวันและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกของสังคม และในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เต็มศักยภาพ ไม่รีรอที่จะทำสิ่งที่เสริมสร้างคุณประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขและความมั่นคงสถาวรของชาติ จงคิดว่า “มด 1 ตัว คน 1 คน มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสิ่งที่ดีให้กับผืนแผ่นดินได้” เหมือนที่ฝรั่งเขากล่าวว่า แค่คิดขยับปีกก็สร้างความสะเทือนไปถึงดวงดาวได้ เป็น Butterfly effect ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ต่างชาติเชื่อมั่นว่า เป็นเรื่องจริง อันหมายถึง คนหนึ่งคนสามารถช่วยทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามได้ และยึดถือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่อยู่ในธงชาติไทย คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่แม้ว่าทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้เห็นวีรกรรมขององค์กษัตริยาธิราชเจ้า เฉกเช่นสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้ารัชกาลก่อน ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องตำรับตำราและหลักสูตรการเรียนรู้ ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ค่อยจะได้เข้าถึงความภาคภูมิใจที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ แต่ถึงกระนั้น พวกเราในฐานะคนมหาดไทย ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีของชาติ ด้วยแนวคิดที่จะ Change for Good ดังที่เราได้ฝึกอบรมวิทยากรผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ประจำท้องถิ่นรุ่นต่าง ๆ (ครู ก.) ทั้ง 19 รุ่น โดยมีพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกด้านทั้ง 7 ด้าน แสดงเจตจำนงค์หลอมรวมพลังในการเป็นผู้เผยแพร่บอกเล่าคุณงามความดีของสถาบันพระมหากษัตริย์และความภาคภูมิใจของความเป็นคนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังได้อบรมวิทยากร ครู ข. โดยมีวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน มาร่วมเผยแพร่ประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งประวัติศาสตร์จะช่วยทำให้คนทุกเชื้อชาติภาคภูมิใจคนในชาติ มีความผูกพันและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบรรพบุรุษไทย และสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยพวกเราคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนธงชาติจากผืนสีแดงมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง ให้เป็น “ธงไตรรงค์” ซึ่งการกำหนดให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย มีปฐมเหตุที่เกี่ยวข้องกับพวกเราชาวกระทรวงมหาดไทยโดยตรง สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมืองอุทัยธานี ที่มีพระยาพิไชยสุนทร (ทอง จันทรางศุ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานี พสกนิกรต่างยินดีปรีดาร่วมกันในการประดับธงช้าง ซึ่งเป็นธงชาติในยุคนั้น แต่เนื่องจากธงช้างหายาก มีราคาแพง และต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ผู้คนจึงประดับธงช้างเท่าที่มีอยู่ และใช้ผ้าพื้นสีแดงขาว ประดับและจับจีบผ้าทั่วบริเวณ โดยทรงทอดพระเนตรพบว่า บ้านบางหลังมีการประดับธงช้างสลับกลับด้าน คือ ช้างนอนหงายปลายเท้าชี้ฟ้า ทำให้เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนครจึงทรงมีแรงบันดาลพระทัยในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 และพระราชทานธงชาติไทยให้มีลักษณะเป็นแถบสีเพื่อไม่ให้มีหัวมีท้าย หรือเรียกว่า “ธงไตรรงค์” มี 3 สี คือ “สีแดง” หมายถึง ชาติและเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในชาติ นั่นคือ ประชาชน “สีขาว” หมายถึง ศาสนา และ “สีน้ำเงิน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ ในวันที่ 28 กันยายน 2460” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณชาวมหาดไทยทุกคน ณ ที่นี้ ที่มาเป็นตัวแทนของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางในการที่จะน้อมรำลึกนึกถึงวันที่เราได้เปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์เป็นธงที่สื่อความหมายของความเป็นคนไทย ของความเป็นประเทศชาติ และตั้งใจในการใช้ passion ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของคนมหาดไทย คือ การรับใช้ประเทศชาติ รับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ ในการดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้พบกับความสุขอย่างยั่งยืน ขอให้ชาวมหาดไทยทุกคนมีความสุข มีความเจริญ ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในหน้าที่ราชการ หน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หน้าที่ของคนมหาดไทย” ราชสีห์ผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน และทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดีที่สุดตลอดชีวิตของพวกเราทุกคน เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืนตลอดไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1875/2567 วันที่ 26 ก.ย. 2567