น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (10 ต.ค. 67) เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขตดุสิต กทม.
นายอนุทิน ได้กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้บูรณาการระดมทุกองคาพยพลงไปจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับทราบว่ามีการพัฒนาเป็นไปในทางที่ดีตามลำดับ แต่ก็ไม่ประมาทยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงท้ายฤดูฝน และการดำเนินการที่สำคัญที่ต้องทำต่อไปในพื้นที่จังหวัดเชียงราย คือการกำจัดดินโคลนที่ค้างอยู่ในบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน โดยจากการที่ตนและคณะได้ไปลงพื้นที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หนักอยู่
“ขอขอบคุณ ปภ. ที่ได้เร่งหารือกับกรมบัญชีกลาง ในกรณีการรับเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขนย้ายดินโคลนออกจากบ้านเรือนที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยใช้เงินทดรองราชการจ่ายเป็นค่าช่วยล้างดินโคลน ในที่อยู่อาศัยประชาชนซึ่งประสบอุทกภัยในอัตรา 10,000 บาทต่อหลัง ซึ่งหลังจากนี้ก็ขอให้ ปภ. ร่วมกันจังหวัด เร่งสำรวจและจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็วที่สุด” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนการเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้หลักการไว้ว่าให้ผู้เดือนร้อนได้รับการช่วยเหลือในเกณฑ์สูงสุด เช่นเงินช่วยเหลือที่ปรับเป็นอัตราเดียว 9,000 บาทต่อครัวเรือน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้เห็นชอบแล้ว หลังจากนี้ก็ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในพื้นที่ อำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการที่ตนได้ลงพื้นที่ให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกหน่วยงาน เป็นที่น่าประทับใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ความยากลำบากยากเย็นของประชาชนมีรอยยิ้มมีกำลังใจ การแสดงผลักดันให้กับเจ้าหน้าที่ของเราทุกคน
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ช่วยกันดูแลประชาชน เพราะแม้ทุกท่านต้องรับแรงกดดันอย่างหนักหนาสาหัส แต่ก็ได้เร่งแก้ไขปัญหา ระดมกำลังพลเครื่องมือเครื่องจักรกลไปช่วย กำจัดเป่าดินโคลนที่ยังคงค้างอยู่ รวมถึงจัดหาอาหารสิ่งของดำรงชีพ ทั้งทหาร ตำรวจ อส. หน่วยกู้ภัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งทุกส่วนได้ทำงานอย่างเต็มที่ และทำงานบรรเทาสาธารณภัยเป็นอย่างดีสิ่งสำคัญคือ ในเรื่องของการป้องกันสาธารณภัย ต้องรบกวนทาง สนทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาหากเราคิดคำนวณจำนวนเงินที่เราช่วยเหลือเยียวยาประชาชนนั้นนับเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น เราจะต้องทำให้จำนวนเงินงบประมาณมหาศาล สามารถสร้างสิ่งที่ยั่งยืนให้กับประชาชนได้” อนุทิน กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1932/2567 วันที่ 10 ต.ค. 2567