น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (23 ต.ค. 67) เวลา 07.00 น. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูง พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระบรมรูปทรงม้า) บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และต่อมาได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร
เสด็จขึ้นครอง สิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 ด้วยพระชนมายุครบ 15 พรรษา ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมา เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ด้วยโรคพระวักกะ (ไต) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 43 ปี
ด้วยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามของพระองค์ว่า “พระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช (Chulalongkorn Day) เพื่อให้ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกรและประเทศชาติบ้านเมือง
สำหรับพระมหากรุณาธิคุณด้านการปฏิรูประเบียบบริหารราชการนั้น พระองค์ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ เข้าเป็นกระทรวง โดยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากระทรวงมหาดไทยขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยทรงจัดรวบรวมหัวเมืองที่สำคัญขึ้นเป็นเขตการปกครองเรียกว่า “มณฑล” และได้ทรงริเริ่มจัดการ “สุขาภิบาล” ในเขตกรุงเทพมหานคร และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดลองให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น และทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ ทรงริเริ่มนำระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท มาใช้ในประเทศไทย
รวมถึงการทรงริเริ่มสร้างทางรถไฟสายแรก คือกรุงเทพมหานคร – อยุธยา การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองเพื่อการคมนาคม เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองทวีวัฒนา คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นต้น ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองส่งน้ำประปาจากแหล่งน้ำดิบเชียงรากสู่สามเสน ซึ่งพระราชกรณียกิจนานัปการข้างต้นนี้ ยังคงได้รับการสืบสานต่อยอดเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1964/2567 วันที่ 23 ต.ค. 2567