วันนี้ (26 เม.ย. 68) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดอบรม Coaching ผ้าลายพระราชทาน “ลายสิริราชพัสตราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2568 จุดดำเนินการที่ 3 ภาคใต้ ณ โรงแรมลากูน่า สงขลา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารจังหวัดสงขลา คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า ด้วยพระปรีชาชาญของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านการออกแบบ หนุนเสริมทำให้สิ่งที่เป็นหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชนที่มีอยู่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ทันสมัยขึ้น นับตั้งแต่พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และพระราชทานลายผ้าพระราชทานให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ได้ถักทอ และเมื่อทอเสร็จแล้วทุกส่วน ทั้งส่วนราชการ ภาคส่วนต่าง ๆ และพี่น้องประชาชน ก็ได้ไปอุดหนุน ไปซื้อสวมใส่หลากหลายลวดลาย และล่าสุด คือ ลายสิริราชพัสตราภรณ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระกรุณาให้เชิญคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จในอาชีพ ก็คือ เหล่าดีไซเนอร์ ทั้งด้านการถักทอ การให้สี การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ และพระองค์ท่านยังทรงเล็งเห็นว่า กระบวนการผลิตผ้าต้องรักษ์โลกด้วย จึงทรงใช้กุศโลบายไม่รับผ้าสีเคมีที่ผู้ประกอบการทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งแม้ว่า ลวดลายสีสันจะสวยสดใสไม่มีผู้ใดทัดทานก็ตาม ก็จะทรงไม่รับ พร้อมพระราชทานแนวทางการปรับตัว ด้วยการใช้สีธรรมชาติที่แต่เดิมมีอยู่แล้ว ให้มีมากขึ้นและดีขึ้น เพราะจะเกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่ และ นักวิชาการด้านสีธรรมชาติก็ได้คิดค้นวิธีการทำให้สีเข้มขึ้นและคงทนติดเนื้อผ้าดีขึ้น
“กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นทำงานแบบทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที มุ่งส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งงานผ้าและงานหัตถกรรมของพวกเราคนไทยในปัจจุบัน ได้รับความนิยมชมชอบอย่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จึงขอฝากให้พวกเราทุกคนได้เร่งพัฒนา และทำให้คุณภาพที่ดีอยู่แล้วดีขึ้นควบคู่การรักษาคุณภาพ เพื่อที่เมื่อเราขายเองในประเทศ เม็ดเงินก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ไม่ว่าต่างประเทศจะมีแนวนโยบายกระทบต่อภาษีส่งออกอย่างไร ก็จะไม่กระทบต่อประเทศเรา” นายอรรษิษฐ์ กล่าว
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไม่ได้ทรงเล็งเห็นแค่เรื่องผ้าหรืองานหัตถกรรม แต่ท่านยังทรงส่งเสริมในเรื่องของศูนย์เรียนรู้ เช่น ดอนกอยโมเดล มีการปลูกพืชผักบริโภคในบ้าน บ้านไหนปลูกผักต่างชนิดกันก็มาแลกกัน เป็นเศรษฐกิจที่เราพึ่งตนเอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานไว้ให้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาด หรือเกิดสงครามความยากแค้นใดใด เราก็สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นรากฐานของกรมการพัฒนาชุมชนที่วันนี้เราได้พัฒนาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
“ทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดในทุกหน้าที่ เมื่อเราได้รับมอบหมาย ได้ถูกไว้วางใจให้ทำหน้าที่อะไร ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ดังนั้น ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่มที่มีความตั้งใจในการพัฒนาผลงานผ้าและผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เพื่อเข้าสู่การแข่งขัน ซึ่งหลายกลุ่มจากเคยได้ที่ 3 ที่ 4 ก็รู้สึกว่าทำไมยังไม่ได้ชัยชนะ จึงต้องเร่งฝึกฝนตนเอง ส่วนคนที่เคยชนะแล้ว การเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การรักษาแชมป์มันยากกว่า จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้เข้าสู่รอบระดับภาค รอบรองชนะเลิศ รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งหากใครได้เข้ารอบชิงชนะเลิศถือเป็นที่สุดแล้ว เพราะพระองค์ท่านจะเสด็จเป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่าน ไปพบกันในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ และพวกเราชาวใต้ทุกคนต้องช่วยกันปลูกฝังลูกหลาน ไม่ให้จบที่รุ่นเรา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันสืบสานต่อไป เพื่ออาชีพของคนไทยจะได้มีคนรับช่วงต่ออย่างยั่งยืน” นายอรรษิษฐ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 295/2568 วันที่ 26 เม.ย. 2568