เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมรณรงค์การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ต่อเนื่อง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาเราก่อน” และขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ของกระทรวงมหาดไทย
นายสำรวย เกษกุล กล่าวว่า ช่วงเย็นวานนี้ (24 พ.ย. 2565) จังหวัดศรีสะเกษได้จัดกิจกรรมชาวศรีสะเกษ ใส่ผ้าไทยปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยกัน โดยมี นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นางมัลลิกา เกษกุล รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดศรีสะเกษ นายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ โดย ดร.วุฒิเดช ทองพูล ประธานเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดศรีสะเกษ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายร่วมในกิจกรรม โดยได้ร่วมกันเตรียมพื้นที่แปลงปลูกผัก และเตรียมพันธุ์ผัก โดยได้รับการสนับสนุนการจัดหาพันธุ์พืช สมุนไพร กาแฟโรบัสต้า ฟางข้าว ปุ๋ยหมัก จากเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
นายสำรวย เกษกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนปลูกผัก 10 ชนิด ให้ได้ 100% เช่น ตะไคร้ ผักบุ้ง พริก คะน้า มะเขือเทศ มะเขือเปราะ กะเพรา โหระพา แมงลัก ถั่วฝักยาว มะละกอ แตงกวา เป็นต้น โดยผลผลิตที่ได้สามารถนำไปประกอบอาหารบริโภคในครัวเรือน และนำไปแบ่งปันครัวเรือนยากจนต่อไป นอกจากนี้ได้แจกจ่ายผลิตภัณฑ์จากแปลงโคก หนอง นา โมเดล จากจังหวัดศรีสะเกษ เช่น กล้วย มะละกอ ต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้า ผักสวนครัว เพื่อนำไปปลูกขยายผลต่อไป เป็นการยืนยันว่าการเดินตามรอยศาสตร์พระราชา สร้างความยั่งยืนได้จริง อีกทั้งยังดำเนินการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในบริเวณจวนผู้ว่าฯ เพื่อให้อินทรียวัตถุช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณขยะ และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้อีกด้วย
นายสำรวยฯ กล่าวตอนท้ายว่า นอกจากนี้ จังหวัดศรีสะเกษ ยังได้สร้างกระแสรณรงค์ปลูกผักสวนครัวผ่านแนวทาง “ผู้นำต้นแบบเป็นตัวอย่างที่เห็นจริง” ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนปฏิบัติการโดยรณรงค์ให้ทุกครัวเรือน ดำเนินการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ รวมถึงพืชสมุนไพร และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน จัดตั้งศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า ขยายพันธุ์และขยายผลเมล็ดพันธุ์พระราชทาน สู่ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน เกิดทักษะวิถีชีวิตใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น เกิดชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกิดการลดรายจ่าย สร้างรายได้ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพให้เกิดความยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 566/2565 วันที่ 25 พ.ย. 2565