เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทานปริญญาบัตรในพิธีประสาทปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำปี 2565 ดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ 18 มหาบัณฑิต รุ่นที่ 32 บัณฑิต รุ่นที่ 67 รวมทั้งมอบเข็มเกียรติคุณและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยมี พระพรหมวชิราธิบดี นายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อุปนายกสภามหาวิทยาลัย พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พุทธศาสตรบัณฑิตใหม่จากทั่วประเทศและพุทธศาสนิกชนจำนวนมากถวายการต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ารับประทานปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม จากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ พิจารณาแล้วเห็นว่า “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นบุคคลต้นแบบในฐานะ “ข้าราชการสายธรรมะ” ผู้มีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มุ่งมั่น ทุ่มเท ในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาอย่างมากมายต่อเนื่อง เป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ มีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และยึดมั่นในกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติเสมอมา ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ก่อเกิดผลดีกับสังคมโดยรวมอย่างไพศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นอเนกประการ ควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มอบ “ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม” เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏไพศาล เป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชน
พระพรหมวชิราธิบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นบุคคลที่มีความวิริยะ อุตสาหะ ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา และกำลังใจ ในการน้อมนำพระบรมราชโองการ พระบรมราโชบาย พระราชดำริ พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชดำริ พระดำริ ของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รวมทั้งหลักธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า มุ่งมั่นอุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประชาชน และมวลมนุษยชาติ ผ่านผลงานที่ปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ในหลายประการ ด้วยแนวคิดการทำงานที่สำคัญ คือ “Change for Good” อันเป็นแนวทางที่มุ่งหวังสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น โดยปรับสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ดี และให้รักษาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงสภาพความดีไว้ หรือพัฒนาให้ดีตามบริบทที่ควรจะเป็น เป็นผู้นำของเหล่าราชสีห์แห่งกระทรวงมหาดไทย อันมีกลไกเชื่อมโยงในทุกพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เผยแผ่ขยายผลสร้างพลังแห่งการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวทางในการทำงานของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เสมอมา
“นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นผู้นำและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการส่งเสริมและบูรณาการงานร่วมกับคณะสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ด้วยการบูรณาการงานอบรมประชาชนกลาง หรือ อ.ป.ก. โดยให้ฝ่ายปกครองได้ร่วมกับคณะสงฆ์ออกไปพูดคุยกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีดวงตาเห็นธรรม เป็นฆราวาสที่ดี ดูแลครอบครัว และยกระดับต่อยอดสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วยวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะ “ความยากจน” คือ ความเดือดร้อนทุกประเภทที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองได้ ไม่ได้มีนัยยะแค่ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน แต่หมายรวมไปถึงเรื่องการป่วยเรื้อรังแล้วไม่มีคนดูแล ไม่มีกำลังที่สามารถไปหาหมอได้ หรือแม้กระทั่งสายตายาว สายตาสั้น ไม่มีเงินไปตัดแว่น เดินไม่ได้เพราะชราภาพมากหรือป่วยติดเตียง ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน มีลูกหลานติดยาเสพติด อันเป็นการสร้างโอกาสดีให้กับประชาชน โดยมีนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอร่วมกับท่านเจ้าอาวาสวัดในทุกชุมชนช่วยกันสงเคราะห์ประชาชน รวมไปถึงบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือดำเนินโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทั้งด้านสุขภาพ พลานามัย และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เราต้องการให้มีขึ้นในสังคมของเรา เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมเชิงพุทธ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้พระมีสุขภาพที่แข็งแรง วัดมีความมั่นคง ชุมชนก็มีความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อส่วนรวม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอบูรณาการร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนทำให้วัดเป็นแหล่ง ครู คลัง ช่าง หมอ ด้วยการอบรมสั่งสอน เป็นคลังอาหาร สรรพวิทยาการ โดยพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางด้านงานช่าง และวัดเป็นศูนย์กลางของความรู้ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือก”
นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าราชการผู้มีความรู้ความสามารถ ขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรและชุมชนด้วยหลัก “ท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ประชาเป็นสุข” สร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็งด้วยการบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล การเงินการคลัง ตามหลักธรรมาภิบาล สนับสนุนการใช้ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ และกลไกที่มีอยู่ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันสอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเห็นได้จากผลงานของท่านอันเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา อาทิ “โครงการผู้ว่าฯ หิ้วปิ่นโตเข้าวัด” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก คนที่ 42 ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานชุมชน ได้ร่วมหิ้วปิ่นโต เพื่อถวายวัดทั้งหมดในจังหวัดนครนายก รวมทั้งสิ้นกว่า 200 วัด ในทุกวันพระ ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้แก่จังหวัดและท้องถิ่น ให้ได้นำไปปฏิบัติในการหิ้วปิ่นโตเข้าวัด ทุกวันพระ “โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี คนที่ 47 นอกจากนี้ ท่านยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ริเริ่มดำเนินการตั้งกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก บริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมบริการสาธารณะอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาคเท่าเทียมเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สนับสนุนกิจการของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการนำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวน้อมถวายเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อประทานแก่วัดทั่วประเทศที่มีพื้นที่ว่างสำหรับให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร อันเป็นไปตามหลักสังคหวัตถุธรรม 4 ประการ คือ ทาน การให้ ปิยวาจา การพูดจาไพเราะ อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ และสมานัตตตา ความมีตนสม่ำเสมอ ดำรงตนเสมอต้นเสมอปลายเป็นแบบอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกชน
และประการสุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาทิ การสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสพิธีกรรมวันสำคัญของพระพุทธศาสนา การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา การให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในกิจการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ “ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม” ถือเป็นเครื่องหมายยืนยันว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา มีหลักและแนวคิดในการพัฒนา สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน โดยการบูรณาการร่วมกันของ 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งรวมถึงภาคศาสนา อันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนดูแลชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
#WorldSoilDay #วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nurition #FAO #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 613/2565 วันที่ 10 ธ.ค. 2565