วันนี้ (25 พ.ค. 66) เวลา 13.15 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระดับจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมมอบนโยบายและข้อเสนอแนะให้แก่การนำเสนอแผนแม่บทของจังหวัด ภายใต้แนวคิด“MOI Hackathon Area-based project” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชูชีพ พงษ์ชัย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนกรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟังจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า หลักการทำงาน “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย และการปฏิบัติตนตามหลักการ “ครองตน ครองคน ครองงาน” และการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญล้วนส่งเสริมให้กระทรวงมหาดไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี การจัดกิจกรรมนำเสนอแผนแม่บทของจังหวัด ภายใต้แนวคิด “MOI Hackathon Area-based project” ในวันนี้มีความตั้งใจจะนำโครงการดี ๆ ภายใต้โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (D-CAST) มาขยายผลต่อยอดและร้อยเรียงให้เป็นเนื้อเดียวกันในภาพรวมของจังหวัด (P-CAST) ผ่านกระบวนการ Hackathon ซึ่งเป็นกระบวนการที่สกัดความรู้และถอดบทเรียนความสำเร็จจากพื้นที่ ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมต่างต้องใช้ความพยายามที่จะทำเรื่องยากและซับซ้อนให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการระดมสมองของผู้เข้ารับการอบรมเพื่อนำโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (D-CAST) มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ และใส่ความคิดสร้างสรรค์บนฐานข้อมูลของจังหวัดที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาความเจริญครอบคลุมในระดับพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมอันจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน
“สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ แรงปรารถนา (Passion) ในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชนของพวกเราชาวมหาดไทย ที่ยังมีน้อย ดังที่ปรากฎในระบบ MOI War room พบว่ามีหลายจังหวัดที่ไม่ได้รายงานผลในระบบ การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้แก่ผู้หญิงในภูมิภาค โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสภากาชาดไทยมอบหมายให้จังหวัดดำเนินการฉีดวัคซีนให้หญิงทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น เฉลิมพระเกียรติฯ ที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าสิ่งสำคัญนอกจากการบูรณาการทำงานร่วมกันแล้วจะต้องทำงานด้วย Passion และมีจิตใจที่รุกรบควบคู่ไปด้วย เพื่อรวมพลังร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ มุ่งเน้นการพัฒนาคนและพัฒนางาน บูรณาการงานทุกโครงการของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ไปสู่เป้าหมายการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างทีมภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดทีมทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตลอดจนถึงระดับกลุ่มบ้าน ที่เป็น “คุ้ม ป๊อก หย่อม” โดยมีผู้รับผิดชอบประจำตำบล/หมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เป็นลูกมือของนายอำเภอ เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เช่นเดียวกับทุกท่านที่มาร่วมเข้ารับอบรมที่ศูนย์เรียนรู้พัฒนาชุมชุนจังหวัดในวันนี้ ซึ่งมีพระสงฆ์ ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย เป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในทีมภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยด้วย เพราะเราให้ความสำคัญกับภาคศาสนา ตามที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” ร่วมกับ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ร่วมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อร่วมด้วยช่วยกันดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของวัดและสถานที่สาธารณะ การจัดการขยะ การสนับสนุนสุขภัณฑ์ รวมถึงการปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ซึ่งพวกเรามีความมั่นใจว่าพวกเราภาคีเครือข่ายจะร่วมกันทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และทำสิ่งที่ดี แก่พี่น้องประชาชนให้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
“เป้าหมายและภารกิจของกระทรวงมหาดไทย คือ “คน” การทำให้คนมีความสุข จึงต้องจำแนกแยกให้ออกว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร จึงจะสามารถอธิบายเพื่อนำเสนอแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ของเราได้ ยกตัวอย่างเช่นปัญหาความห่างเหินของราชการกับคนในพื้นที่ ข้าราชการที่บรรจุรับราชการ ณ ที่ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ มักเป็นผู้คนที่มาจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งยังมีการทำงานแบบออฟฟิศและไม่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไร ให้ทีมจังหวัดและอำเภอได้นำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์สู่ (Approach) การปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ได้ เพราะ หน้าที่ของเราชาวมหาดไทยคือ “การทำสิ่งเล็กๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่” เกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยมีเป้าหมายคือการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการสร้างทีมผู้นำพัฒนาการเปลี่ยนแปลงแบบบูรณาการอย่างยั่งยื่น ซึ่งต้องอาศัยทีมจังหวัดในการผลักดันให้ทีมหมู่บ้านเกิดความเข้มแข็ง โดยคำนึงถึงระดับ MICRO ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับอำเภอ ไปสู่ระดับจังหวัด ด้วยทีมภาคีเครือข่ายที่เต็มไปด้วยจิตอาสา มีใจที่เสียสละ ควบคู่กับการส่งเสริมให้คนในชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความเข้มแข็งไปพร้อมกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนครัวเรือนแบบชี้เป้า TPMAP ThaiQM ของกระทรวงมหาดไทย คือ การลดระยะห่างหรือช่องว่างของชาวมหาดไทยและคนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดคนที่ตกเกณฑ์และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยมีหลักสำคัญของการแก้จน คือ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” เราต้องคำนึงถึง 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนด้านต้นทุนค่าใช้จ่าย อีกด้านหนึ่งคือ ต้องสร้างเสริมการพึ่งพาตนเอง ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงต้องรื้อฟื้นจิตวิญญาณของชาวมหาดไทยในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กลับมาทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน เพราะงานของเรายังไม่สำเร็จ การให้ทุกท่านมาร่วมกันคิดวิเคราะห์แนวทางการตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้มีข้อเสนอแนะสามารถนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับจังหวัดและพื้นที่ของท่าน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยในการลงพื้นที่ในวันที่ 28 พฤษภาคม ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการลงพื้นที่ไปร่วมกันทำสิ่งที่ดี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การทำงานแบบบูรณาการเป็นทั้งฟังก์ชั่นงานและคน เพื่อการขับเคลื่อนที่มีหัวใจสำคัญคือการพูดคุยร่วมกันระหว่างส่วนกลางระดับกระทรวง ระดับกรม และระดับภูมิภาค ซึ่งเราทำโดยมีพื้นฐานการมีส่วนร่วมของคนพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยทำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่เช่นเดียวกันกับที่ทุกท่านได้นำเสนอข้อเสนอแนะของทุกท่านที่ผ่านการร่วมคิดร่วมทำ เพื่อการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทุกท่านที่มาในวันนี้ มีภารกิจหน้าที่แตกต่างกันออกไป เป็นการทำงาน R-E-R ที่มีทั้ง Routine Job, Extra Job และ Report เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคน ดังนั้นจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันสร้างคุณูปการเพื่อให้ประชาชนมีความสุขด้วยการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี และร่วมรับประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเพราะหน้าที่การทำงานมีอายุเกษียณ แต่ต้องไม่เกษียณในการทำความดี เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอเกษียณอายุราชการ แต่คนในพื้นที่เหล่านั้นยังคงอยู่ จึงต้องเป็นผู้วางรากฐานให้ภาคีเครือข่าย ให้มีความพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่และทำภารกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขต่อไป เป็นที่มาของการอบรมผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งนี้ เพื่อไปปลุกเร้าเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่ให้มีแรงขับเคลื่อนทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น พร้อมกับการรักษาสายใย ลดระยะห่างของราชการ รื้อฟื้นความสามัคคีกลับมา ดังนั้น การทำ Routine job และ Extra job ต้องทำไปควบคู่กัน ซึ่ง Extra job จะเป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจให้พี่น้องประชาชน สร้างความตราตรึงใจให้แก่คนในพื้นที่ ซึ่ง Extra job จะดีได้ เราชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายต้องสร้างคลังข้อมูลที่ทันสมัยให้เกิดขึ้น นำไปสู่การแก้ไขความยากจนและบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมั่นใจว่าทุกคนทำได้ถ้าใจสู้ มีแพชชั่นที่จะทำ พร้อมช่วยกันกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นคนมหาดไทย ซึ่งเป็นนักปกครองให้เข้าไปนั่งในหัวใจของชาวบ้าน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยความเพียร มานะ อดทน นำมาซึ่งความสำเร็จ และขอให้เราไม่ย่อท้อ ไม่เลิกทำดีและทำให้ถึงที่สุด ด้วยความสุขในทุกนาที เพื่อเป็นต้นแบบเป็นผู้นำ และมีผู้ตาม ช่วยกันประชาสัมพันธ์และรายงานผลการดำเนินงาน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่พบเห็น ซึ่งกระบวนการฝึกอบรมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคือตัวท่านเอง ที่มี Ability และ Knowledge จึงต้องดึงเอา Passion และ Attitude ในการไปทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน สนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน จึงขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันนำความรู้ความสามารถที่ได้รับการอบรมทำให้พื้นที่เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมพัฒนาภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่โดยมีเป้าหมายการการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสามัคคีจิตอาสาในการพัฒนาขับเคลื่อนพื้นที่ตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยว่า “บำบัดทุกข์บำรุงสุข”ตลอด 131 ปี และความทุกข์ของประชาชนจะหมดสิ้นไป ต้องอาศัยทุกท่านปลุกเร้าพลังใจในการเป็นผู้เสียสละจิตอาสาตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในทุกพื้นที่ 7,255 ตำบล 878 อำเภอ 76 จังหวัด ซึ่งหากทำสำเร็จได้ ต้องระลึกว่า “หัวใจอยู่ที่พี่น้องประชาชน” ให้เป็น Active citizen ด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และเป็นที่พึ่งและเป็นที่กล่าวขวัญที่ประทับอยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชน ช่วยกันทำนุบำรุงประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งสืบไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 470/2566 วันที่ 25 พ.ค. 2566