วันนี้ (27 พ.ค. 66) เวลา 15.30 น. ที่ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในงานสืบสานมรดกความงาม วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมพื้นถิ่นอำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระวิมลมุนี เจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอกัลยาณิวัฒนา พระครูวีรศาสน์ธำรง เลขานุการเจ้าคณะอำเภอกัลยาณิวัฒนา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง พระครูจันทรกิจจารักษ์ เจ้าอาวาสวัดจันทร์ เจ้าคณะตำบลบ้านจัน-แจ่มหลวง พระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร เจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง และเจ้าอาวาสวัดห้วยบง ร่วมในงาน โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ และภาคีเครือข่าย ร่วมกิจกรรม โดย นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา พร้อมด้วยข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เข้ากราบสักการะพระประธาน แล้วถวายสังฆทาน ณ วิหารวัดห้วยบง และร่วมรับฟังการบรรยายวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีพื้นถิ่น ผ่านภาพวาดฝาผนัง จำนวน 48 ภาพ รอบวิหารวัดห้วยบง โดยมี มัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ นำชม จากนั้น เป็นประธานเปิดป้าย “โครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566” โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ แล้วเยี่ยมชมสวน “กาแฟ แปลงสมุนไพร” และ “ปลูกต้นไม้” ประจำถิ่น ณ โรงเพาะชำสมุนไพรวัดห้วยบงในสวนป่าภายในบริเวณวัดห้วยบง และร่วมพิธีมัดมือ “กี่จือ” รับขวัญ แขกบ้าน แขกเมือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมชาวปกาเกอะญอ โดยผู้เฒ่า ผู้แก่ผู้อาวุโสในพื้นที่ ณ เบลาะ (สถานที่ทำพิธีมัดมือ) อันเป็นพิธีการที่สำคัญเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้เฒ่าผู้แก่ผู้อาวุโสทำการรับขวัญแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือน และเยี่ยมชม การสาธิต กระบวนการผลิตผ้าทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชน โดยกลุ่มสตรีทอผ้า อำเภอกัลยาณิวัฒนา พร้อมมอบหนังสือโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และรับประทานอาหารเย็น “เมนูชาวบ้านพื้นถิ่น” ของชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา อาทิ ข้าวเบ่อะ ไก่บ้านต้มสมุนไพร หลามปลา ห่อหมก (แอบหมู) น้ำพริกปลา ณ ลานธรรมวัดห้วยบง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอกราบขอบพระคุณพระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร เจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง และเจ้าอาวาสวัดห้วยบง ผู้มีจิตเมตตาและมีดวงตาเห็นธรรมในการที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ประเพณีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของปกาเกอะญอ ภายใต้บวรพระพุทธศาสนา และการทำให้ป่าชุมชนกลายเป็นทั้งป่าที่ให้อาหาร ป่าที่ให้ยารักษาโรค ป่าที่จะให้เป็นเครื่องไม้ใช้สอย ป่าที่จะให้ทำเป็นที่อยู่อาศัย เป็นกุฏิ เป็นบ้านเรือน และเป็นป่าที่จะให้ความร่มเย็นแก่สรรพสัตว์โลกทั้งหลายรวมทั้งพวกเราด้วย ซึ่งนับเป็นเมตตาธรรมยิ่งที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดห้วยบงได้เป็นเสาหลักในการที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางการดำรงชีวิตของคนในเขตอำเภอกัลยาณิวัฒนา และเป็นต้นแบบให้กับคนทั่วประเทศ ในการที่จะให้ดำรงชีวิตแบบไม่เบียดเบียนธรรมชาติ นั่นคือการดำรงชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานไว้ให้เราคนไทยทุกคน เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้ ให้คนอยู่กับธรรมะ อยู่แบบเคารพธรรมชาติ เคารพบรรพบุรุษ แล้วก็ช่วยกันอนุรักษ์ รักษา ประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษ อันเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เพราะทั้งหลายทั้งปวงที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดห้วยบง และท่านผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น พี่น้องชาวกัลยาณิวัฒนา ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอกัลยาณิวัฒนาได้ช่วยกันทำนี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา และยังขยายผลทำให้ชาวเชียงใหม่และชาวกรุงเทพมหานครได้รับประโยชน์ด้วย เพราะการที่เรารักษาป่าไม้ ทำป่าไม้ให้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งยารักษาโรค ก็มีนัยว่า พื้นที่ป่าเป็นพันไร่บริเวณนี้ เราจะไม่มีการจุดไฟเผา จะไม่เกิด PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบไปถึงกรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ อีกด้วย
“ต้องกราบขอบพระคุณที่พระคุณท่านอนุญาตให้พวกเรามาทำกิจกรรมที่พระเดชพระคุณและคณะสงฆ์วัดห้วยบงได้ทำไว้ดีแล้ว และมาต่อยอดโดยท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ ในการที่จะเพิ่มพูนเรื่องต้นไม้สมุนไพร โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทำให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นแหล่งอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกาแฟที่เป็นแหล่งรายได้ แล้วก็ยังเป็นต้นแบบว่า ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งชาวปกาเกอะญอเชื่อกันว่าเป็น “ป่า 7 ชั้น” โดย ป่า 3 อย่าง ประกอบด้วย 1. ป่าที่ใช้เป็นอาหารและยารักษาโรค คือ ป่ากินได้ เช่น กาแฟ กล้วย ต้นอื่น ๆ 2. ป่าที่สามารถใช้เป็นเครื่องไม้ใช้สอย เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง 3. ป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ เช่น กาแฟ และ 4. เกิดประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ท่านนายอำเภอกัลยาณิวัฒนา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำแนวทางการบูรณาการความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ โดยมีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร เจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง และเจ้าอาวาสวัดห้วยบง เป็นหลักชัย นำฝ่ายบ้านเมือง ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอกัลยาณิวัฒนา สมัครสมานสามัคคีบูรณาการกับทุกภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชน ขับเคลื่อนสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่ชุมชนในทุกมิติ ตั้งแต่การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงแนวพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง รวมไปถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมสนับสนุนรวมพลังความสามัคคีของพี่น้องประชาชนดูแลพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้านให้มีความปลอดภัยและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ และการอนุรักษ์รักษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียม วิถีชีวิตท้องถิ่น ถ่ายทอดสู่ลูกหลานเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบในการทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พวกเราชาวมหาดไทยได้หลอมรวมใจนำแนวทางพระดำริมาขับเคลื่อน เผยแพร่ขยายผลสร้างการรับรู้ไปยังสังคมโดยรวม รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อำเภออื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ทุกหมู่บ้านใน 878 อำเภอ 76 จังหวัด เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” ซึ่งมีตัวชี้วัดที่สำคัญ นั่นคือทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า วัดห้วยบง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2535 และได้รับการยกฐานะเป็นวัด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 มีเนื้อที่ทั้งหมด 55 ไร่ แต่เดิมมีสถานะเป็นอาศรมพระธรรมจาริกบ้านห้วยบง และต่อมาประชาชนชาวบ้านห้วยบงมีความต้องการให้อาศรมพระธรรมจาริกตั้งอยู่ในชุมชน พร้อมทั้งมีพระธรรมจาริกมาจำพรรษา เผยแผ่พระพุทธศาสนา และอบรมปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแก่ชาวบ้านและเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานบริหารโครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ วัดศรีโสดา โดย “อาศรมพระธรรมจาริก” นั้น ทำหน้าที่ควบรวมเป็นพระ-ครู-หมอ ให้กับชุมชน
“บ้านห้วยบง เดิมที่มีความเชื่อทางบรรพบุรุษ เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยมีการบูชาโดยการเลี้ยงผีตามความเชื่อที่ว่า การเจ็บไข้เพราะมีดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาเบียดเบียนเพื่อขอส่วนบุญจากพี่น้อง แต่ต่อมาพระธรรมจาริกเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาและตั้งอาศรมในชุมชน ทำให้ชาวบ้านที่เห็นว่าการประกอบพิธีการเลี้ยงผีเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ยิ่งนานไปทำให้การเลี้ยงผียิ่งยากมากขึ้นเพราะการเลี้ยงผีต้องมีคนในครอบครัวอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน จึงจะทำให้การเลี้ยงผีแต่ละครั้งมีความสมบูรณ์ แต่เมื่อขาดคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งไปทำให้การเลี้ยงผีไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านห้วยบงจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา โดยการให้พระสงฆ์ไปประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ยึดถือพระรัตนตรัย โดยพึ่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตลอดชีวิต ควบคู่กับการบูรณาการตามความเชื่อและวิถีชนที่ยึดถือมาช้านาน” นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวเพิ่มเติม
นายวีระ ยิ่งรักเพ็ญจันทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ได้ดำเนินโครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ขึ้น เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ตลอดจนเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สวนสมุนไพร ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน ได้เห็นคุณค่าของสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพ การอนุรักษ์และการใช้สมุนไพรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ โดยน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ มาปรับใช้ นอกจากนี้ ยังมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ด้วยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพืชพรรณสมุนไพรไทยและสมุนไพรในท้องถิ่น รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พืชพรรณสมุนไพรในพื้นที่ เพื่อปลูกในสวนสมุนไพร โดยได้รับความเมตตาจากพระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร เจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง และเจ้าอาวาสวัดห้วยบง อนุญาตและเป็นหลักชัยในการใช้พื้นที่ของวัดเป็นพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งนับเป็นสิริมงคลกับพี่น้องประชาชนชาวบ้านห้วยบงและพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์เป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องตามแนวทางบันทึกข้อตกลงโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม อันทำให้วัดเป็นสัปปายสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชน และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานตามแนวทางการจัดงานวันดินโลก “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” อีกด้วย
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI #Changeforgood #SDGTH #หมู่บ้านยั่งยืน
#เรื่องเล่าจากชุมชน #วันดินโลก #SDGlocalization #SEPforSDGs #Worldsoilday
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 480/2566 วันที่ 27 พ.ค. 2566