เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 ที่วัดบ้านหงาว หมู่ที่ 1 ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน ร่วมลงพื้นที่ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสิริสุวรรณาทร เจ้าคณะตำบลเขานิเวศน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวิหาร พระครูวิมลกิจจาภรณ์ เจ้าคณะตำบลหงาว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอุปนันทาราม พระครูใบฎีกา สมศรี สมลาโภ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบ้านหงาว ร่วมต้อนรับ และได้รับเกียรติจาก ท่านมะเล็บ หมาดหลี อิหม่ามมัสยิดอัลฟาอีซีน และท่านยภัธร์ ดีเอง อิหม่ามมัสยิดดารุลญันน๊ะฮ์ ร่วมต้อนรับ โดยมี นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ นายปกาสิต พรประสิทธิ์ นายอำเภอเมืองระนอง นายธรณิช อิ้วตกส้าน กำนันตำบลหงาว ผู้ใหญ่บ้าน นายธนกร บริสุทธิญาณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง นายจิราวัจน์ เจริญนิธิโภคิน นายกเทศมนตรีเมืองระนอง นายจรัญ ปิยเดชากรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหงาว นายธีรพงศ์ แซ่จั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหงาว และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กราบสักการะ “หลวงพ่อดีบุก” พระพุทธรูปประธานพระอุโบสถวัดบ้านหงาว แล้วเยี่ยมชมบูธกิจกรรมตำบลเข้มเข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลหงาว และผลิตภัณฑ์ OTOP อำเภอเมืองระนอง อาทิ “โครงการฅนระนองไม่ทิ้งกัน” นำเสนอการจัดทำกองทุนบุญจากขยะรีไซเคิล โดยผู้ใหญ่ถาวร รถแก้ว ซึ่งได้รับบริจาควัสดุรีไซเคิลในตำบลหงาว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2566 สามารถลดปริมาณขยะรีไซเคิลสู่หลุมฝังกลบทั้งสิ้น 2,463.3 กิโลกรัม และจำหน่ายเป็นรายได้นำเข้ากองทุน ทั้งสิ้น 5,614 บาท โดยเงินที่ได้รับได้รวบรวมนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยคนยากไร้และสนับสนุนการกุศลและงานฌาปนกิจในชุมชนหงาว “ศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ความดี” บ้านทุ่งหนาว หมู่ 2 ตำบลหงาว โดยน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขับเคลื่อนเสริมสร้างความยั่งยืน ด้วยการรณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัว ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยมีพันธุ์ไม้ อาทิ พริก กระเพรา กระชาย กาหยู มะเขือม่วง ผักชีฝรั่ง ผลิตภัณฑ์ OTOP หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ผลิตภัณฑ์ผ้ากลุ่มตัดเย็บผ้าบ้านห้วยปลิง ผ้าปาเต๊ะปัก กลุ่มบุปผาผ้าปักเมืองระนอง การสาธิตการเลี้ยงพันธุ์ไก่ไข่ พันธุ์ไก่พื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ดินไทยบ้านปั้นดิน ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ผลิตภัณฑ์กลุ่มสตรีตำบลหงาว ผ้าเพ้นท์ลายทับพระยาผ้าเพ้นท์ น้ำนมกาหยู ลอ กอ ยอก ก๊กซิมบี้ จากชมรมผู้สูงอายุตำบลหงาว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยให้ความสำคัญในการ “พัฒนาคน” เพื่อให้คนไปสร้างทีม ทีมไปพัฒนาพื้นที่ โดยน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการฝึกอบรมผู้นำทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ดังที่ท่านกำนันตำบลหงาวได้บรรยายสรุป ซึ่งทำให้เห็นว่าตำบลหงาวมีความเข้มแข็งในการเสริมสร้างทีม โดยมีผู้นำภาคีเครือข่ายภาคศาสนา ทั้งพระสงฆ์ และโต๊ะอิหม่าม ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างความรู้รักสามัคคี การนำหลักคุณธรรมของศาสนามาทำให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณธรรมและมีความสุขอย่างยั่งยืน
“ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำตัวอย่างของการเสริมสร้างสิ่งที่ดีของตำบลหงาว ไปขยายผลทำให้ความดีนี้ขยายผลไปทุกพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน โดยนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเน้นย้ำว่า จะต้องมีการรวมกลุ่มกันให้ได้ เพราะถ้าทำอยู่แค่คนเดียว กลุ่มเดียว สิ่งดี ๆ ก็จะดีแค่คนเดียว กลุ่มเดียว แต่ถ้าทำกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด และต้องหมั่นเสริมสร้างพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ ด้วยการร่วมคิด ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อที่จะได้ร่วมรับประโยชน์ อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ทุกตารางนิ้วของจังหวัดระนอง เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนด้วยมือของพวกเราทุกคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากพื้นฐานของครอบครัว นั่นคือการใช้พื้นที่ว่างบริเวณโดยรอบบ้านให้เป็นแปลงปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อที่จะทำให้เกิดแหล่งอาหารที่ปลอดภัย รวมทั้งมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน คัดแยกขยะ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อที่จะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และจะทำให้เกิดความรักความอบอุ่นของสมาชิกในครอบครัว และต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เพื่อที่จะให้ลูกหลานเราได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีความสะอาด ความสวยงาม และทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนด้วยมือของพวกเรา
“สิ่งสำคัญต้องมีการถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน เด็ก เยาวชน ในพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน เกิดความยั่งยืน เพราะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้ช่วยกันถ่ายทอดภูมิปัญญาไปสู่คนรุ่นต่อไป ทั้งงานประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม อาหารการกิน ท่วงท่าร่ายรำ ประวัติศาสตร์ของชุมชน มรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เพื่อให้เกิดการสงวนรักษาและสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งแม้ว่าในช่วงแรกเด็ก ๆ เหล่านั้นอาจจะยังไม่คล่องแคล่วชำนาญ แต่เมื่อพวกเขาถูกปลูกฝัง ถูกบ่มเพาะ ฝึกฝนในโอกาสต่าง ๆ บ่อยครั้ง เขาก็จะเกิดการจดจำ และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ จึงขอให้ผู้ใหญ่อย่างพวกเราได้อดทนที่จะฝึกสอนลูกหลาน เพื่อที่ลูกหลานจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วก็มีหลักในการใช้ชีวิตที่มั่นคงต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย
นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า “บ้านหงาว” มีที่มาของชื่อเล่ากันว่า เป็นชื่อของ “วัวป่า” ซึ่งคนจีนเรียกว่า “โหงว” “บ้านหงาว” แต่โบราณ จะเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ มีสัตว์ประเภทกินหญ้าอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะ วัวป่า เมื่อครั้งพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เข้ามาบุกเบิกทำเหมืองแร่ ก็มีคนเข้ามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งโหงว” คือ ทุ่งวัวป่า ต่อมาเพี้ยนเป็น “ทุ่งหงาว” ซึ่งในอดีตชุมชนบ้านหงาว คนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนจะทำการค้า เปิดร้านกาแฟหรือขายของเบ็ดเตล็ด (ร้านโชห่วย) ตามฐานะ อาชีพของคนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้างเป็นงานหลัก โดยเฉพาะอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก
นายธรณิช อิ้วตกส้าน กำนันตำบลหงาว กล่าวว่า ตำบลหงาว ได้นำนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีม ด้วยการรวมกลุ่มเป็น “ทีมตำบลหงาว” และได้เข้าร่วมการฝึกอบรมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับตำบล (T-CAST) โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ให้กลายเป็น “ทีมงานแห่งความยั่งยืน” ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในชุมชนตามภูมิสังคม ซึ่งชุมชนตำบลหงาว มีความเข้มแข็งในเรื่องทุนมนุษย์ ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางสังคม และทุนทางกายภาพ และมีจุดแข็ง คือ การใช้หลัก “บวร” และ “บรม” ทำให้ตำบลหงาวเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 880/2566 วันที่ 21 ก.ย. 2566