วันนี้ (22 ก.ย. 66) เวลา 08.45 น. ที่ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอคอนสวรรค์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติด “คอนสวรรค์ โมเดล” ด้วยการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบ “มินิธัญญารักษ์” ตามโครงการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดระยะยาวในโรงพยาบาลชุมชน โดยมี นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสุชาติ อยู่เจริญ นายอำเภอคอนสวรรค์ แพทย์หญิงศรัญญา พันธุ์ทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคอนสวรรค์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมในการตรวจเยี่ยม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนดีใจที่ได้มาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจข้าราชการของอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งท่านนายอำเภอผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และทีมงานของท่านนายอำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์หญิงศรัญญา พันธุ์ทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคอนสวรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด “คอนสวรรค์ โมเดล” ด้วยการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบ “มินิธัญญารักษ์” สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จ คือ ลูกหลานคนคอนสวรรค์ที่หลงผิดไปเสพยาเสพติด ติดยาเสพติด ได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม ด้วยกำลังใจ ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันกับท่านนายอำเภอสุชาติ อยู่เจริญ นายอำเภอคอนสวรรค์ คือ การทำให้อำเภอคอนสวรรค์เป็น “อำเภอสีขาว”
“รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการปราบปรามยาเสพติด และบำบัดรักษาคนที่ติดยาเสพติด เพราะคนติดยาไม่ใช่คนร้าย แต่เป็นผู้ป่วย ที่ต้องช่วยกันบำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ด้วยการกำหนดเป็นมาตรการเชิงรุก ที่เน้นป้องกันไม่ใช่ปราบปราม และกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องรับผิดชอบ หากมียาเสพติดในพื้นที่ ผู้รับผิดชอบเขตพื้นที่ต้องรับผิดชอบและรับผิดทางวินัย ฝ่ายปกครองต้อง “ทำงานเชิงรุกและเชิงรบ” เพื่อป้องกันยาเสพติดเข้าพื้นที่ตนเอง และต้องมองว่าลูกบ้านคือลูกของเรา เราป้องกันลูกของเราอย่างไร ต้องป้องกันลูกบ้านแบบนั้น ใครเอายาเสพติดเข้าบ้านเรา เราจะจัดการเด็ดขาดอย่างไร ถ้าทุกพื้นที่ป้องกันได้ ยาเสพติดจะไม่มีที่อยู่ในประเทศไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันในการป้องกันและปราบปราม โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่หลงผิดไปติดยาเสพติดว่า คือ “ผู้ป่วย” ซึ่งเจ้าตัวเองต้องเห็นความสำคัญของการรักษาอาการป่วยของตนเองให้หายป่วยโดยเร็ว ซึ่งไม่ว่าจะไปติดยาเสพติดด้วยเหตุผลอะไรก็ต้องรักษา เราต้องรู้ว่ายาเสพติดเป็นเหมือนเชื้อโรค ถ้าเอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งการรักษานอกจากเจ้าตัวจะเต็มใจมารักษาแล้ว “กำลังใจ” เป็นสิ่งที่สำคัญ ควบคู่กับการที่เจ้าตัวต้อง “มีสติ” ระลึกนึกถึงคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนที่เรารักที่อยู่ที่บ้าน และต้องมี “จิตใจที่เข้มแข็ง” ขณะเดียวกันภาคราชการก็ต้องบูรณาการทีมงาน เห็นสมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นญาติในสายเลือด ที่ลูกหลานของสมาชิกในชุมชนก็คือลูกหลานของเรา ถ้าครอบครัวของพวกเขาไม่มีความสุข พวกเราทุกคนก็จะไม่มีความสุข จึงต้องช่วยกันทำให้สังคมนี้ปลอดยาเสพติด ทำให้คนที่หลงผิดได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง กลับมาใช้ชีวิตเป็นคนดีร่วมกับคนในสังคมได้
“..ขอฝากนายอำเภอคอนสวรรค์ว่า ความท้าทาย คือ ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะทำให้อำเภอคอนสวรรค์เป็นอำเภอสีขาวได้ ทำให้คนที่หลงผิดติดยาเสพติดกลับมาเป็นคนดีได้ หาคนเชื่อยาก เพราะคนไทยติดกับภาพที่สะท้อนออกมาเฉกเช่นละครเรื่อง “น้ำพุ” ที่ในท้ายที่สุดเจ้าตัวก็หันกลับไปใช้ยาเสพติดจนกระทั่งต้องตาย ซึ่งเรื่องใหญ่ คือ เราต้องทำให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม นอกจากจะทำให้ลูกหลานหายป่วยและไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกแล้ว เราต้องมี “ทีมที่เข้มแข็ง” หรืออาจเรียกว่า “ทีมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ” ซึ่งเป็นทีมภาคีเครือข่ายแบบบูรณาการในการที่จะไปช่วยทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ทำให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งเรื่องใหญ่ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ท่านนายกเทศมนตรี ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องผนึกกำลังกับทีมให้เป็น “ทีมบูรณาการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบยั่งยืน ประจำตำบล/หมู่บ้าน” ให้มีความเข้มแข็งและมีลักษณะการทำงานแบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด ด้วยการโน้มตัวลงไปหาพี่น้องประชาชนเพื่อที่จะได้ถือโอกาสไปดูลูกหลานที่ผ่านการฟื้นฟูสภาพทางสังคม ไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจ และไปดูว่ายังมีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหนหรือไปพบเจอกับสภาพปัญหาใดเพิ่มเติม จะได้รีบช่วยเหลือกัน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชีวิต ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “โครงการ บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “โครงการ ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงเขียด เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไส้เดือน และชักชวนกันไปใช้พื้นที่วัด ไปใช้โรงเรียน ใช้พื้นที่สาธารณะ ช่วยกันเอามื้อสามัคคี และทำในสิ่งที่ดีในพื้นที่ ควบคู่กับต้องช่วยกันเป็นผู้ไปเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสาร หาข่าวมาบอกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ นายอำเภอ เพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด และต้องช่วยกันสร้างระบบความเข้มแข็งของชุมชนที่เรียกว่า “ระบบคุ้มบ้าน” ที่กำลังจะหายไป เพราะคนอยู่แบบตัวใครตัวมัน เราต้องนำระบบคุ้มกลับมา ช่วยกันดูแลเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง มีการแบ่งหน้าที่กันเป็นหัวหน้าคุ้ม ช่วยกันดูแลสมาชิกในคุ้ม คือ ครัวเรือนต่าง ๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และร่วมกันคิด ร่วมกันพูดคุย ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา อันจะทำให้เกิดการร่วมกันรับประโยชน์ และหากเราทำอย่างจริงจังเหมือนกับที่คอนสวรรค์ทำอยู่ การแก้ไขปัญหาก็จะแก้ไขได้ เพราะความสำเร็จอยู่ที่อำเภอ จุดแตกหักอยู่ที่หมู่บ้าน และสำหรับท่านนายอำเภอคอนสวรรค์ และผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ขอให้ท่านไม่ได้เกษียณจากการมุ่งมั่นทำความดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ด้วยการช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพื้นที่ให้กับลูกหลาน และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้นำตัวอย่างดี ๆ “คอนสวรรค์ โมเดล” ไปขยายผลอำเภอต่าง ๆ ต่อไป..” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุชาติ อยู่เจริญ นายอำเภอคอนสวรรค์ กล่าวว่า ที่ทำการปกครองอำเภอคอนสวรรค์ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัดชัยภูมิ สาขาอำเภอคอนสวรรค์ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 โดยใช้อาคารกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอคอนสวรรค์ที่ 8 ดำเนินการจัดตั้งสถานรักษาผู้ติดสารเสพติดในรูปแบบ “มินิธัญญารักษ์” โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาสนับสนุนดำเนินการรักษาและฟื้นฟูทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ได้แก่ โรงพยาบาลคอนสวรรค์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 10 แห่ง ครบทุกพื้นที่
พญ.ศรัญญา พันธุ์ทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคอนสวรรค์ กล่าวว่า เราพบว่าประเทศไทยมีครัวเรือนที่ใช้ยาเสพติดถึง 2 ล้านคน และพบผู้เสพ 4.5 แสนคน ทำให้เราต้องตระหนักถึงความรุนแรง แต่เมื่อสำรวจเตียงสำหรับการรักษาพยาบาลบำบัดฟื้นฟูทั้งประเทศแค่ 6,703 เตียง ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีผู้สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้เพียงแค่ 170,000 คน คิดเป็น 38% ส่วนอีก 62% เป็นผู้ที่ต้องการการบำบัดแต่ไม่มีโอกาส จึงเกิดนโยบายในการจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบ “มินิธัญญารักษ์” ตามโครงการพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติดระยะยาวในโรงพยาบาลชุมชน โดยมีแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ซึ่งทั่วประเทศมีเพียง 6 แห่ง ซึ่งจัดตั้งแห่งแรกอยู่ที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
“โรงพยาบาลคอนสวรรค์ก็ประสบปัญหาในเรื่องของการต้องดูแลผู้ป่วยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดยากมาก เพราะโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ก็เตียงเต็ม จึงได้หารือกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดยมีนายอำเภอคอนสวรรค์เป็นผู้นำ ยกขึ้นเป็นวาระสำคัญของอำเภอ จึงเกิดเป็น “คอนสวรรค์ โมเดล” และเปิดศูนย์แห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 รวมเป็นเวลา 7 เดือน ใช้หลักสูตร 90 วัน โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมอาชีพ คือ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทำขนม งานจักสาน พรมเช็ดเท้า การออกกำลังกาย ฝึกสมรรถภาพ เล่นกีต้าร์ ร้องเพลง ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำให้ทุกคนมีจิตใจที่ผ่อนคลายและสงบ นอกจากนี้กำหนดให้ผู้ปกครองสามารถเยี่ยมได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ขณะนี้มีผู้เข้ารับการบำบัดแล้ว 30 คน โดยจบหลักสูตรไปแล้วรุ่นที่ 1 จำนวน 6 คนและรุ่นที่ 2 จำนวน 8 คน รวม 14 คน และคณะกรรมการได้กำหนดแผนในการติดตามภายหลังการฟื้นฟูสภาพทางสังคม ด้วยการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ หาอาชีพและติดตามดูแลช่วยเหลือที่บ้านต่อไป” พญ.ศรัญญาฯ กล่าวส่งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 883/2566 วันที่ 22 ก.ย. 2566