ปลัด มท. ติดตามการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมกดปุ่มเปิดเครื่องสูบน้ำเป็นปฐมฤกษ์ เน้นย้ำ ความสำเร็จและความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาหน้าแล้งบึงบอระเพ็ดอยู่ที่พี่น้องประชาชน โดยผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องบูรณาการทีม สร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ ความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อร่วมรักษาระบบนิเวศบึงบระเพ็ดให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของลูกหลานอย่างยั่งยืน
วันนี้ (23 ก.ย. 66) เวลา 08.45 น. ที่จุดสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่ประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด หมู่ที่ 7 ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ สุวรรณบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชูโชค ศิวะคุณากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นางสาวชุติพร เสชัง นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจตรี ชาญวิทย์ กนกนาก ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภานุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนผู้ใช้น้ำ และประธานองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด กว่า 200 คน ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมพบปะพูดคุยกับประชาชนผู้ใช้น้ำ และประธานองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด และเป็นประธานกดปุ่มเปิดเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่ประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ดเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงาน “มหกรรมเมนูอาชีพทางเลือกคนนครสวรรค์” ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งได้มีการฝึกอบรมอาชีพให้กับประชาชน ทั้งด้านการทำอาหาร การทำการเกษตร และอาชีพอื่น ๆ ที่เป็นการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการทำให้พสกนิกรชาวไทยทุกคนได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งรวมทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์อันมหาศาลให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งที่ผ่านมา พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรไทย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ผลกระทบของสภาวะอากาศในปัจจุบันที่พวกเรากำลังต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อน อากาศวิปริตแปรปรวน สะท้อนผ่านปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ต้องเผชิญกับสภาวะฝนทิ้งช่วง โดย “บึงบอระเพ็ด” เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องประสบสภาพปัญหาจากภาวะเอลนีโญอย่างรุนแรงมาก โดยต้องขอบคุณจังหวัดนครสวรรค์ที่มีความกล้าหาญในการช่วยกันปกป้องสิ่งที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์และคนไทยทั้งประเทศ คือ “บึงบอระเพ็ด” ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม มีความยั่งยืนในการที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ยังประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวนครสวรรค์ และเป็นแหล่งสนับสนุนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในอนาคต
“จากการติดตามการแก้ไขปัญหาของจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ทราบว่าในปีนี้แล้งหนัก ปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ด ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 อยู่ในระดับวิกฤต เพียง 5.5 ล้าน ลบ.ม. แต่ระดับน้ำที่ปลอดภัย (50%) ของความจุบึง อยู่ที่ 100 ล้าน ลบ.ม. และระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำแม่น้ำน่าน โดยคาดการณ์แล้วว่าไม่มีทางที่น้ำจะเข้ามาตามธรรมชาติได้เลย ทางจังหวัดจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ด โดยเราตั้งเป้าว่าภายในเดือนกันยายน จะมีน้ำในบึงประมาณ 60 ล้าน ลบ.ม. และเดือนตุลาคมจะมีน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อที่จะทำให้ระบบพืชพันธุ์และระบบนิเวศจะยังคงอยู่ ซึ่งในเวลานี้เราเหลือเวลาการสูบน้ำได้อีกเพียง 50 วัน เพราะน้ำในแม่น้ำน่านจะคงตัวถึงประมาณวันที่ 10 พฤศจิกายนแล้วก็จะแห้ง และหลังจากนั้น เราต้องมารอปริมาณฝนในปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมากกว่าปีนี้ 15% ทั้งนี้ จากการสูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ด ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมถึงวันนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำแล้ว 34 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะถึงเป้าหมาย 100 ล้าน ลบ.ม. ในเดือนตุลาคม และที่น่าตกใจอีกประการหนึ่ง คือ ในวันเดียวกันของปีนี้ (23 กันยายน 2566) มีปริมาณน้ำในบึงมากกว่าปีนี้ 300 กว่าล้าน ลบ.ม. จึงต้องเพิ่มจุดสูบน้ำอีกจุดหนึ่ง คือ บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ดแห่งนี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยและมาเป็นกำลังใจให้กับชาวจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการประกอบสัมมาชีพ ตามแนวทางการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bio-Circular-Green Economy : BCG) ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ได้หารือกับผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทำนา และประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มีความเข้าใจและไม่ทำให้น้ำในบึงบอระเพ็ดต้องเน่าเสียหรือปนเปื้อนสารพิษ เพราะเราต้องการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวิภาพในบึง ทั้งพืชน้ำ สัตว์น้ำ และนก กว่า 1,000 ชนิด ให้อยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤตเอลนีโญ ประชาชนก็ใช้น้ำร่วมกันเท่าที่จำเป็น และต้องร่วมกันในการดูแลบึงบอระเพ็ดให้ยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ได้ สัตว์อยู่ได้ พืชอยู่ได้
““ความสำคัญอยู่ที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่” เพราะประชาชน คือ ปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลว ทั้งใน “ระยะสั้น” ด้วยการหลีกเลี่ยงใช้น้ำ ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น และ “ระยะยาว” ด้วยการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่อาจจะไหลลงน้ำไปทำให้บึงบอระเพ็ดเสียหาย นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์ให้ทุกครอบครัวคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ปลูกป่า ใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อไม่ทำให้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียหายมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเกิดเอลนีโญ ทำให้น้ำในบึงบอระเพ็ดแห้งเช่นปีนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเหนือบึงบอระเพ็ด ที่เป็นเส้นทางไหลของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน มีความสำคัญทุกลุ่มน้ำ รวมถึงทุกลำคลองของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อทำให้บึงบอระเพ็ดเป็นมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น “พื้นที่ชีวิต” เป็นสมบัติอันล้ำค่าให้กับลูกหลานและคนในชาติอย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลณีโญ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการประกอบอาชีพ ด้านการประมง ด้านปศุสัตว์ และการรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในบึงบอระเพ็ด ซึ่งปัจจุบันมีระดับน้ำลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตประปาหมู่บ้าน และระบบนิเวศที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของประเทศไทยในลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่น ๆ
“เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตประปาหมู่บ้านในบึงบอระเพ็ด ที่ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำแรงดันสูง จำนวน 3 เครื่อง พร้อมบุคลากร และงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมประมง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดมาทำการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านผ่านคลองบอระเพ็ด ไปยังบึงบอระเพ็ด ไม่น้อยกว่า 70 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในสระผลิตประปาหมู่บ้าน ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่บึงบอระเพ็ด จำนวน 8,273 ครัวเรือน 20,400 คน และทำการสูบน้ำจากโครงการระบบส่งน้ำจากแม่น้ำน่าน-บึงบอระเพ็ด ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 ด้วยเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้า เข้าพื้นที่บึงบอระเพ็ดเพื่อรักษาระบบนิเวศ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ถึงปัจจุบัน โดยการสูบน้ำทั้ง 2 แห่งในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการสูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดให้ได้ 60 ล้าน ลบ.ม. ภายในเดือนกันยายน 2566 และปริมาณรวม 100 ล้าน ลบ.ม. ภายในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนในปี 2567” นายชยันต์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 889/2566 วันที่ 23 ก.ย. 2566