เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 เวลา 15.00 น. ที่ Q Stadium ชั้น M-higlight ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (EmQuartier) ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค (รอบคัดเลือก) โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายยงยุทธ สุวรรณบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ร่วมในพิธี โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue Thailand นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ASAVA นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวพระดำริในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเกษตรกรในทุกถิ่นที่ชนบทห่างไกล ด้วยการทรงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย อันเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรับเอาโครงการพระราชดำริด้านผ้าและโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเป็นพระราชภาระ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการช่างทอผ้า ได้ตื่นตัวในการพัฒนาผลงาน ทั้งงานผ้าและงานหัตถกรรม ให้เป็นที่ต้องการ เป็นที่ชื่นชอบของแฟชั่นสมัยนิยม อันจะทำให้ได้มีรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้น ไปจุนเจือครอบครัว ไปดูแลตนเองในยามเจ็บไข้หรือในยามชรา
“พระองค์ท่านทรงเพียรพยายามในการส่งเสริม เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี นับเนื่องตั้งแต่การพระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ต่อมาพระราชทานลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้พระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ในการเสด็จทรงงานในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในแต่ละปี กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองพระดำริด้วยการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทานขึ้น ด้วยเพราะเราคำนึงถึงการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาชิ้นงาน พัฒนาฝีไม้ลายมือของตนเอง ซึ่งสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีปรากฏเป็นรูปธรรม คือ “จำนวนชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวดเพิ่มมากขึ้น” ซึ่งในปีนี้มีถึง 7,086 ชิ้น อันเป็นเครื่องหมายยืนยันถึงความสำเร็จของการทำงานสนองแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นอย่างดีเยี่ยม เพราะทุกคน ทุกฝ่ายได้ทำให้พี่น้องคนไทยในทั่วทุกภูมิภาค ในทุกจังหวัด ได้ตื่นตัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะอนุรักษ์งานศิลป์ของแผ่นดินไทยให้คงอยู่และมีคุณภาพที่ดีเพิ่มมากขึ้น เป็นมรดกให้ลูกหลานและเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน สมดั่งพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีเป้าประสงค์ที่สำคัญ คือ “คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน” ทุกท่านจงภาคภูมิใจที่ได้ช่วยสนองพระดำริของพระองค์ท่านจนประสบความสำเร็จ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีนี้ เราประสบความสำเร็จตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชิ้นงาน การออกแบบลวดลาย การเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเชิญชวนให้แม่ ๆ พี่น้องช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้า ที่มีความมุ่งมั่นสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทย ได้มีความเข้าใจ มีความภาคภูมิใจถึงการที่จะยึดเป็นอาชีพที่สร้างความยั่งยืน เพราะในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ทำการรับรองกระบวนการผลิตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เราเรียกว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผ้าไทย” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่จะช่วยเป็นยาบำรุงกำลัง ถวายเป็นพระกำลังใจให้กับพระองค์ท่าน เพราะนับตั้งแต่ครั้งแรกที่พระองค์ท่านพระราชทานพระดำริ จะทรงเน้นย้ำเรื่องการปฏิเสธผ้าไทยที่ใช้สีเคมี ใช้ไหมโรงงาน ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงมีพระประสงค์ที่จะให้ช่างทอผ้าได้นำพระราชดำริอันล้ำค่าที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการ “พึ่งพาตนเอง” ทั้งการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ ผ่านแนวพระดำริ Sustainable Fashion เพื่อที่จะทำให้พี่น้องคนไทยได้คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ถือเป็นหนึ่งในความมั่นคงของชีวิต
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า เรื่องที่น่ายินดีอีกเรื่องหนึ่ง คือ ถึงแม้ว่าจะมีชิ้นงานจำนวนมากที่ตกรอบ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถึงกระนั้น ชิ้นงานที่ตกรอบไปก็ทำให้เจ้าของชิ้นงานได้มีรายได้ ซึ่งนับถึงวันนี้ มียอดสั่งซื้อ สั่งจองผ้าไทยที่ตกรอบไปแล้วมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ก็ยังมีผลงานที่ตกรอบอีกหลายชิ้นที่ศิลปินผู้ผลิตไม่ประสงค์จะจำหน่าย ด้วยเพราะพวกเขาเหล่านั้นมีความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งของชีวิตได้มีส่วนร่วมในการน้อมนำลายผ้าพระราชทาน มาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบลวดลายผ้าด้วยตัวเอง จึงต้องการที่จะเก็บผืนผ้าเหล่านั้นไว้เป็นสิ่งมงคล ไว้เป็นความรำลึกนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นชิ้นงานเพื่อที่จะแสดงให้ผู้ที่จะมาเยี่ยมเยือน หรือผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ไปเลือกซื้อผ้า ได้เห็นผลงานอันล้ำค่านี้ นอกจากนี้สำหรับการประกวดผ้าลายดอกรักราชกัญญา ผ้าผืนที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ ก็จะถูกนำไปตัดฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงถือเป็นเรื่องที่มงคลที่สุดของชีวิตผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้อีกด้วย
“ขอให้ชาวมหาดไทย ชาวกรมการพัฒนาชุมชน ได้มุ่งมั่นในการสนองพระดำริ ด้วยการทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา ในการพัฒนาพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการ โดยถ่ายทอดกระบวนการที่พระองค์พระราชทานครบวงจรตั้งแต่ 1) ต้นน้ำ ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติ ถ้าทำไม่ได้ ให้จับคู่เกษตรกร และกลุ่ม OTOP กลุ่มต่าง ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นการสนับสนุนคนไทยด้วยกันที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ทำทุกวิถีทางให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กัน เพื่อให้เงินหมุนเวียนในหมู่พวกเราคนไทยด้วยกัน 2) การออกแบบลวดลาย ต้องช่วยกันคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบที่คนนิยม 3) การออกแบบตัดเย็บ เพื่อลูกหลานในท้องถิ่นกล้าแสดงตัวออกมาว่ามีความชอบและปรารถนาที่อยากเป็นดีไซเนอร์ และ 4) การตลาด ต้องมี story telling และ brand ซึ่งต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้ครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นจุดอ่อนที่ควรพัฒนาต่อไป คือ Packaging ที่ดี ที่ทันสมัย ถูกใจลูกค้า เพื่อที่จะทำให้ยอดจำหน่ายตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าไปแล้ว 80,000 ล้านบาท มีแต่เพิ่มพูนขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท เพราะยอดจำหน่ายเหล่านี้ คือ รายได้ที่จะไปจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัว ไปทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเราชาวมหาดไทย ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งจะต้องช่วยกันให้กำลังใจผู้มีจิตอาสาที่อยากทำความดีให้สังคม หรือตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ดีโดยไม่คิดค่าตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน รวมถึงศิลปินดีไซเนอร์จิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีกำลังใจที่จะทำสิ่งที่ดี ไม่หยุดนิ่งที่จะทำดีต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ขอเชิญชวนพวกเราทุกคน ได้ช่วยกันสร้างสรรค์โครงการ/กิจกรรม อันเนื่องมาจากพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น การออกแบบผ้าลายเฉลิมพระเกียรติ หรือผ้าชนิดพิเศษ เพื่อทำสิ่งที่ดีถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลดังกล่าว นอกจากนี้ ขอให้พวกเราทุกคนอย่าลืมสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำพวกเราอยู่เสมอว่า กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนี้ ต้องมีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องยึดหลักพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมสนับสนุนให้มีบุคลากรในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และท้ายสุด ต้องสามารถแปรรูป มีช่างออกแบบตัดเย็บ มีพื้นที่ช่องทางจำหน่าย เพื่อให้ผ้าไทย สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และช่วยกันทำให้ 80,000 กว่าหมู่บ้าน/ชุมชนใน 7,255 ตำบล 878 อำเภอ 76 จังหวัด เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อพวกเราจะได้ภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งของชีวิตเราได้ทำสิ่งที่ดีของชีวิตร่วมกับพระองค์ท่าน เพื่อตอบแทนบุญคุณของผืนแผ่นดินไทย
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งจากการดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ณ จังหวัดเชียงใหม่ ราชบุรี สงขลา และอุดรธานี มีผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านเข้ารอบประกวดระดับภาค (รอบคัดเลือก) ทั้งสิ้น 745 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทผ้า จำนวน 662 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 83 ชิ้น โดยคณะกรรมการฯ จะคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 150 ผืน และหัตถกรรมตามชิ้นงานที่เหมาะสม เพื่อเข้าประกวดระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศ (Semi Final) ในวันที่ 29 ก.ย. 66 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ต่อไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 890/2566 วันที่ 23 ก.ย. 2566