วันนี้ (24 ก.ย. 66) นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา เปิดเผยถึง การขับเคลื่อนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว และนำไปสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกคน โดยจากการลงพื้นที่ตรวจราชการออกหน่วยบริการและเยี่ยมพี่น้องประชาชน ตามโครงการ “อำเภอยิ้ม…เคลื่อนที่ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน” ในแต่ละหมู่บ้าน พบว่า กลุ่มเกษตรผู้ปลูกอะโวคาโดออร์แกนิกพันธุ์พื้นเมืองได้รับความเดือดร้อนจากการจำหน่ายผลผลิต จึงได้มอบหมายให้ นายธนภัทร รัตนสมัย หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง ร่วมหารือกับพี่น้องเกษตรกรชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอผู้ปลูกอะโวคาโด กว่า 200 ราย เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการตลาดและช่วยหาช่องทางจำหน่ายผลผลิต ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์
นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ในภาคการเกษตร โดยใช้หลัก “การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภัณฑ์ของภาคเกษตร ควบคู่กับการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ (Precision farming) การวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความสุข ร่มเย็น และมีความยั่งยืน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้นายอำเภอทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้ง 878 อำเภอ ยึดเป้าหมายการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมีพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ ผ่านการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า” รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การต่อยอดการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน
นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้เน้นย้ำในเรื่อง การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาดและการจำหน่าย โดยมุ่งเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยกำหนดมาตรการ เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เช่น การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต การใช้ประโยชน์จากทุนชุมชน เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชมูลค่าสูงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” มาเป็นแนวทางในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชน ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable economy) จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “โครงการศูนย์ดำรงธรรมนำสุข แก้ทุกข์ให้เกษตรกร” กิจกรรมนำ “AVOCADO อะโวคาโดออร์แกนิกส์ จากกัลยาฯ สู่มหานคร ทุกที่ทั่วประเทศไทย” ซึ่งสถานการณ์ผลิตอะโวคาโดในจังหวัดเชียงใหม่ (ปี 2566 – 2567) มีเกษตรกรที่ปลูกอะโวคาโด ทั้งหมด 2,516 ครัวเรือน พื้นที่ทั้งหมด 12,447 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 18,919 ตัน โดยจะเริ่มมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดและผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 จนถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2567 โดยอำเภอกัลยาณิวัฒนามีพื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในลำดับที่ 4 จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 18 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่
นายธนภัทร รัตนสมัย หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง อำเภอกัลยาณิวัฒนา เปิดเผยว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีประชากร 12,949 คน มี 4,335 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนเกษตรกร 3,637 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งหมด 421,612 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวน 378,245 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 มีพื้นที่ทำการเกษตร 30,391 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7 และมีพื้นที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ 8,062 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 โดยพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 30,391 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 2,275 ครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด จำนวน 829 ครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จำนวน 410 ครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่ จำนวน 334 ครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด จำนวน 397 ครัวเรือน เกษตรผู้ปลูกกะหล่ำปลี และอื่น ๆ อีก จำนวน 517 ครัวเรือน ซึ่งร้อยละ 40 ของอะโวคาโดที่ปลูกเป็นสายพันธุ์อะโวคาโดที่โครงการหลวงบ้านจันทร์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มีการประกันราคาและรับซื้อคืน มีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจน ได้แก่ พันธุ์แฮส, พันธ์บัคคาเนีย, พันธ์ปีเตอร์สัน, พันธ์พิงก์เคอร์ตัน, พันธ์บูท 7 และพันธ์บูท 8 ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 60 เป็นพันธ์ุพื้นเมืองซึ่งปลูกแบบออร์แกนิก แต่ยังไม่เป็นที่นิยมของตลาด พี่น้องเกษตรกรชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอผู้ปลูกพันธุ์พื้นเมืองกว่าร้อยละ 60 หรือ 238 คน จึงร้องขอต่อนายอำเภอกัลยาณิวัฒนา ช่วยรับซื้อ และช่วยหาช่องทางจำหน่ายผลผลิตทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจะทยอยออกพร้อมกันทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และอาจทำให้สินค้าล้นตลาดจนมีราคาตกต่ำ อำเภอกัลยาณิวัฒนา และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการศูนย์ดำรงธรรมนำสุข แก้ทุกข์ให้เกษตรกร” กิจกรรมนำ “AVOCADO อะโวคาโดออร์แกนิกส์ จากกัลยาฯ สู่มหานคร ทุกที่ทั่วประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเกษตรกรที่ปลูกอะโวคาโดพันธุ์พื้นเมือง โดยใช้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเป็นสถานที่รับซื้อ และรวบรวมผลผลิต คัดแยกผลผลิต ติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ “แก้วกัลยา” เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจในความปลอดภัย โดยมีนายอำเภอเป็นผู้รับรองหรือการันตี หลังจากนั้นนำใส่บรรจุภัณฑ์ Packaging อะโวคาโดโดยเฉพาะ เพื่อจัดจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ Application Facebook “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” และ Application Facebook Intragram tiktok และสื่อโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งในห้วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สามารถช่วยจำหน่ายผลผลิตให้กับพี่น้อง เกษตรกรชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ ผ่านทางออนไลน์ จำนวนกว่า 2,500 กิโลกรัม เกษตรกรมีรายได้รวมกันกว่า 100,000 บาท และมียอดสั่งจองทางออนไลน์กว่า 300 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อ สอบถาม หรือ สั่งจองอะโวคาโดออร์แกนิกพันธุ์พื้นเมืองของพี่น้องชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ ได้ทาง “Facebook อำเภอกัลยาณิวัฒนา” หรือ โทรศัพท์ 085-4847879 นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา หรือ 063-1876326 ปลัดอาวุโสอำเภอกัลยาณิวัฒนา” หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง กล่าว
นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการ “ศูนย์ดำรงธรรมนำสุข แก้ทุกข์ให้เกษตรกร” นี้ อำเภอกัลยาณิวัฒนามุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ตามแนวทางของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มอบไว้ในคราวการประชุมติดตามและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ให้แนวทางไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุด หรือสิ่งที่เป็น Core Business ของกระทรวงมหาดไทย คือ การต้องระดมสมอง เพื่อปรับปรุงพัฒนา และลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่เป็นหน้าที่หลักสำคัญให้ดี ดังหลักการทำงาน “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้นำหรือเป็นนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ ได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเป็นแม่เหล็กหรือโซ่ข้อกลางในการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มาช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน “ทำให้สังคมไทยได้เข้าใจและเข้าถึงหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทย” ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องนำเอาพลังมาเป็นแรงขับเคลื่อน ผลักดันการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน พร้อมดึงอุดมการณ์ของคนมหาดไทยทุกท่านเมื่อครั้งที่ท่านตัดสินใจมารับราชการกระทรวงมหาดไทย โดยปลุกเร้าพลังนั้นให้กลับมามีแรงกล้าแกร่งเพิ่มมากขึ้นกว่าที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แล้วทำตามหลักการทำงานขององค์พระปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย “เราต้องครองใจพี่น้องประชาชน มากกว่าการนำเอาอำนาจบาตรใหญ่มาใช้กับพี่น้องประชาชน” เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและสังคมสงบสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและชุมชนเข้มแข็ง พื้นที่ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน มีพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน และได้รับการพัฒนาอย่างสมดุล ตามหลักการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 893/2566 วันที่ 24 ก.ย. 66