วันนี้ (4 ต.ค. 66) นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ด้วยการรวมพลังของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเอามื้อสามัคคีร่วมกันเก็บและกำจัดผักตบชวา – วัชพืชในแม่น้ำลพบุรี บริเวณวัดญาณเสน หมู่ที่ 10 และแหล่งน้ำคูคลองสาธารณะ ไม่ให้มีวัชพืชและสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตามแนวทาง “โก่งธนู เมืองสะอาด อย่างยั่งยืน” เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจเกิดจากปริมาณน้ำเหนือในปีนี้ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสันติญาณประยุต เจ้าคณะตำบลโก่งธนู เจ้าอาวาสวัดญาณเสน เป็นหลักชัยสนับสนุนกิจกรรม โดยมี นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ประชาชนจิตอาสา และภาคีเครือข่าย ร่วมทำกิจกรรม
นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนูได้นำนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ได้น้อมนำแนวทางตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงเน้นย้ำหลัก “บวร” คือ การทำงานร่วมกันของบ้าน วัด ราชการ และจิตอาสา ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่ชาวโก่งธนูได้ยึดถือทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา จัดเก็บและกำจัดผักตบชวา – วัชพืชในแม่น้ำลพบุรี บริเวณวัดญาณเสน ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอตามโครงการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ คู คลอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา เมื่อปี 2565 และเพื่อที่จะร่วมกันเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การปรับปรุงสภาพและภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำสาธารณะไม่ให้ตื้นเขิน หรือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับน้ำจากภาคเหนือ ทำให้น้ำสามารถไหลได้สะดวกและรวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสีย อีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกายและส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบได้ตระหนักและร่วมจัดการ อนุรักษ์ รวมถึงพัฒนาแม่น้ำลพบุรีให้อยู่ในสภาพที่สวยงามสะอาดตา สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนในทุกฤดูกาล
“แม่น้ำลพบุรี มีความยาวทั้งสิ้น 85 กิโลเมตร โดยอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลโก่งธนู ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นลำน้ำสาขาที่แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนไหลไปรวมเข้ากับแม่น้ำป่าสัก มีต้นน้ำอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ไหลมาทางตะวันออกผ่านอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ก่อนไหลลงไปทางใต้เข้าเขตอำเภอบ้านแพรก อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอนครหลวง แล้วบรรจบกับแม่น้ำป่าสักหน้าตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไหลงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดพนัญเชิง ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ แต่ภายหลังเมื่อความเจริญเพิ่มมากขึ้น ประชาชนหันมาใช้ยานพาหนะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จึงไม่ได้ใช้คลองเพื่อการสัญจร แต่ปรับมาใช้เพื่อการระบายน้ำและการเกษตร ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนูได้ดำเนินการรวมพลังประชาชนในพื้นที่ดูแลรักษาให้มีความสะอาด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ” นายบรรหาญฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู กล่าวอีกว่า การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในครั้งนี้ เป็นการน้อมนำพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการหลอมรวมความรัก ความสามัคคี ความตั้งใจ และความเป็นจิตอาสาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่มีแนวทางเดียวกัน คือ การเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ตามแนวคิด Change for Good โดยความเป็นจิตอาสาที่กล่าวมานี้ คือ การที่เราสามารถทำความดีได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องใหญ่ และแม้ว่าความดีที่เราทำ ไม่มีใครรู้หรือไม่มีใครเห็น หากทุกคนทำความดีคนละเล็กละน้อยอย่างสม่ำเสมอประดุจการปิดทององค์พระพุทธปฏิมาที่ในที่สุดแผ่นทองก็จะเต็มองค์พระดั่งประเทศชาติเราที่จะเต็มไปด้วยความดีงามและประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะ พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในทุกด้าน ทรงเสียสละความสุขส่วนตนมาตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ยังความเจริญวัฒนาถาวรแก่พสกนิกรไทยทุกคน ให้ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
“ในพื้นที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู และภาคีเครือข่าย ได้น้อมนำแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการรณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรไทย เช่น กระชาย ตะไคร้ กะเพรา โหระพา และพริก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องการป้องกันและดูแลสุขภาพแล้ว ยังรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งอาหารของชุมชน ถ่ายทอดสู่เด็ก เยาวชน ลูกหลานในตำบลโก่งธนู โดยมี ผู้บริหาร อบต.โก่งธนู ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ปลูกผัก ปลูกรักภายในครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนทำให้ทุกวันนี้ ชาวโก่งธนูมีความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่อง ทุกครัวเรือนมีความสุข อยู่อย่างพร้อม อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน กลายเป็น “โก่งธนู โมเดล” ต้นแบบตำบลเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และเมื่อครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง จึงขยายผลมาสู่การร่วมกันดูแลทุกเรื่องในตำบล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะและความสะอาดในตำบลโก่งธนู ที่นอกเหนือจากมีการจัดทำกองทุนสวัสดิการธนาคารขยะแล้ว เรายังช่วยกันดูแลความสะอาดทั้งทางบก คือ ถนนทุกสายทาง และทางน้ำ คือ แม่น้ำ ลำคลอง หนองน้ำสาธารณะ ทางอากาศ คือ ทุกอย่างที่ช่วยลดโลกร้อน ปลูกพืชผัก ไม้ผล เพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกวัน รณรงค์งดเผาวัชพืช เผาตอซังข้าว ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน ควบคู่กับการดูแลรักษาแหล่งน้ำ” นายบรรหาญฯ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู กล่าวว่า นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการเสริมสร้างพลังความรัก ความสามัคคีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลโก่งธนู เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลกันและกันของคนในพื้นที่ตามหลัก “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ได้มีการดำเนินงานดังกล่าวมาโดยตลอด และเป็นโชคดีที่พวกเรามีหลักชัยสำคัญ นั่นคือ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ท่านได้ลงมาเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้นำพาพวกเราได้ทำสิ่งที่ดีในชีวิตมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะท่านคือ “ผู้นำจิตอาสา” ที่เป็นต้นแบบจนทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง จนเกิดระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 ซึ่ง อบต.โก่งธนู ได้รับการหนุนเสริมจากระเบียบดังกล่าว และระดมรับสมัครสมาชิกจากทุกครัวเรือน จนทุกวันนี้มีอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ของ อบต.โก่งธนู มากถึง 1,700 คน ช่วยดูแลรักษาความสะอาด ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ ภายในเขตตำบลโก่งธนู ทั้ง 14 หมู่บ้าน ซึ่งล้วนเป็นจิตอาสาทำดีด้วยหัวใจ ไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ตามแนวทาง “Change for Good” เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า และมีการรณรงค์ส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาแหล่งน้ำคูคลองสาธารณะ ด้วยความร่วมมือไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ คู คลอง และที่สาธารณะ ลดและคัดแยกขยะตามหลัก 3 ช ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ สำหรับผักตบชวาและวัชพืชที่เก็บขึ้นมาในครั้งนี้ และทุก ๆ ครั้ง จะถูกนำไปกำจัดและบางส่วนนำไปผสมกับกิ่งไม้ ใบไม้ และกากตะกอนสิ่งปฏิกูล เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือประโยชน์อื่น ๆ เพื่อบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกผักสวนครัว รวมถึงให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์และช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อไป เพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 931/2566 วันที่ 4 ต.ค. 2566