วันนี้ (26 ต.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ตรงกับ “วันออกพรรษา” ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพี่น้องประชาชนในแต่ละภูมิภาคจะเดินทางไปร่วมประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาตามคติความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี และร่วมเฉลิมฉลอง รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมอันดีงามตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เช่น ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า โดยประเพณีสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพี่น้องชาวปักษ์ใต้ ก็จะมีการร่วมกันจัดทำพุ่มผ้าป่าบริเวณหน้าอาคารบ้านเรือน สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ ทั้งมีการชักลากรถพนมพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญบนบุษบกออกจากวัดวาอารามมากกว่า 100 วัด เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สักการะบูชา รวมถึงประเพณีไหลเรือไฟ ที่เป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดนครพนมและพี่น้องประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะมีการจัดทำเรือไฟด้วยโครงไม้ไผ่ออกเเบบเป็นรูปต่าง ๆ โดยศิลปินเรือไฟ เเล้วจุดไฟตามรูปที่ออกเเบบไว้ เเล้วนำมาลอยในคืนวันออกพรรษา และการปล่อยกระทงสาย พิธีรำบูชาพระธาตุพนมและการไหลเรือไฟ เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท การสักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี และการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา ซึ่งจะมีประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวเดินทางไปร่วมชมและอนุโมทนาบุญเป็นจำนวนมาก และในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ก็จะมีการร่วมกันจัดเตรียมพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ทั้งการตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ของคาวหวาน เนื่องในวันออกพรรษา เป็นต้น ซึ่งจะมีพี่น้องประชาชนทั้งในจังหวัดและทั่วทุกสารทิศไปร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ ดังนั้น เพื่อให้การควบคุมดูแลสถานบริการ สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายกับสถานบริการ โรงแรม และสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายกับสถานบริการ โรงแรม และสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 โดยหากมีผู้ประกอบการหรือประชาชนฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“กระทรวงมหาดไทยยังได้กำชับให้ทุกจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขันให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ กฎหมายโรงแรม กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยหากพบว่ามีการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดทั้งอาญาและทางปกครอง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปร่วมประเพณีออกพรรษาในแต่ละพื้นที่ จึงขอให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินมาตรการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ด้วยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรง เช่น ถนนหนทาง การจราจรทางบก การจราจรทางน้ำ ท่าเทียบเรือ หรือบริเวณโป๊ะ แพริมน้ำที่ประชาชนนิยมไปให้อาหารปลา หรือไปรับประทานอาหารร่วมกัน ระบบไฟฟ้า สายไฟในบริเวณวัด สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์ รวมถึงสถานที่จัดงานประเพณี พร้อมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง คัดกรอง ตรวจสอบ ตรวจตรา ผู้ร่วมงานหรือนักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีที่อาจลักลอบก่อเหตุที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน มีแผนการดูแลความปลอดภัย โดยนำแผนเผชิญเหตุที่ได้มีการจัดทำไว้ในแต่ละพื้นที่มาซักซ้อมในทุกเรื่อง ทุกมิติ พร้อมจัดเตรียมกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือในการระงับเหตุหรือบรรเทาสาธารณภัย และให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ และสายด่วนนิรภัย สแตนบายให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้วันออกพรรษาเป็นวันแห่งความสุขที่พุทธศาสนิกชน พี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตและมีความสุขร่วมกัน
“หากพี่น้องประชาชนพบการกระทำความผิดหรือมีความประสงค์จะติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้องหรือข้อปฏิบัติในวันออกพรรษา สามารถแจ้งหรือสอบถามได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง โทรสายด่วน 1567 หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1006/2566 วันที่ 26 ต.ค. 2566