วันนี้ (20 พ.ย. 66) ที่ห้องประชุม 402 – 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วาระแห่งชาติ : นโยบายแก้จนของประเทศไทย” ในโครงการสัมมนา เรื่อง การแก้ปัญหาความยากจน : วิถีสู่ความสําเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสโมสรโรตารี โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟังการปาฐกถาฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัญหาความยากจนในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนจากการขาดที่ดินทำกิน ขาดการศึกษา ปัญหาสุขภาพ หรือการขาดโอกาสในสังคม “การแก้จน” เราจึงไม่อาจมองแล้วการแก้ปัญหาเพียงจุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องทำหลายอย่างไปพร้อมกันทุกภาคส่วน สำหรับกระทรวงมหาดไทยมีการนำเอา “ปัจจัยหลัก” ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ที่เราเรียกกันว่า ปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค มาแก้ปัญหาความยากจนในเบื้องต้น ซึ่งเราจะต้องทำให้ประชาชนทุกคนมีปัจจัย 4 เพียงพอในการดำรงชีวิต รวมถึงบริการพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขด้วย แต่มีอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการทำให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ก็คือ “การศึกษา” ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้น นโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทยจึงต้องเริ่มด้วยการสนับสนุนสวัสดิการเพื่อดูแลปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเราทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว และมีการต่อยอดอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนสวัสดิการในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทย อย่างล่าสุดในกระทรวงมหาดไทยก็มีนโยบาย “น้ำประปาดื่มได้” เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยและลดภาระในการซื้อน้ำดื่มของประชาชน นอกจากนี้สวัสดิการในบางด้านไทยเราก็อยู่ในระดับเหนือค่าเฉลี่ย เช่น ในด้านการสาธารณสุข ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น เวลาไปประชุมนานาชาติที่ไหน “Universal Health Care” หรือ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของไทยก็มักจะถูกยกเป็นต้นแบบ และองค์การอนามัยโลกก็ยังพยายามผลักดันให้ทุกประเทศมีหลักประกันแบบนี้ให้กับพลเมืองของเขาด้วยเช่นกัน สำหรับในด้านการศึกษาในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเองก็มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน ที่ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และดูแลเด็กให้มีโภชนาการและพัฒนาการที่สมวัย พร้อมทั้งขยายสวัสดิการด้านการศึกษา โดยตนได้เคยกล่าวไว้ว่าหนี้ กยศ. มันไม่ควรจะเกิดด้วยซ้ำ เพราะภาครัฐน่าจะดูแลเยาวชนให้ศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่ผมอยากเห็นลูกหลานและเยาวชนของเราได้เรียนจนจบในระดับอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักสำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้พี่น้องประชาชน
“ในปัจจุบัน วัฒนธรรม ประเพณีมีการเปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมมีการแข่งขันมาก ประกอบกับช่วงชีวิตมีระยะเวลาที่ยาวมากตามหลักเกณฑ์ของสังคมผู้สูงอายุ โดยสิ่งหนึ่งที่เราต้องเร่งศึกษาก็คือ การปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดประเทศให้กว้างขึ้นสำหรับประชากรคุณภาพจากต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานและจ่ายภาษีในเมืองไทย เราอาจต้องเพิ่มจำนวนประชากรด้วยกฎหมายอพยพย้ายถิ่นที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างไรก็ดีก่อนจะถึงวันนั้นสิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจัดลำดับความสำคัญเริ่มจากการแก้ปัญหาให้ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เป็น “ผู้ยากจน” ก่อน เพื่อให้การแก้ปัญหานั้นส่งผลไปถึงภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย” นายอนุทินฯ กล่าวในช่วงต้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2563 ที่มีการสำรวจจำนวนผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ของคนไทย พบว่า กลุ่มอาชีพที่ใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม ที่มีจำนวนมากถึง 11.28 ล้านคน จากจำนวนคนไทยที่มีงานทำทั้งสิ้น 37.33 ล้านคน และเป็นที่ทราบกันดีว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ทำรายได้น้อย และต้องการการสนับสนุนจากรัฐมาก นอกจากการมีที่ดินทำกินซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็มีหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้วนั้น “น้ำ” ก็นับว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญเป็นอย่างมากอีกประการหนึ่ง จากเอกสารของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อปี 2562 ได้ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เขตเกษตรกรรม ถึงร้อยละ 47.77 ของพื้นที่ประเทศไทย พื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานเพียงแค่ประมาณ ร้อยละ 22 อยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน ร้อยละ 78 นั้น ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ “นอกพื้นที่เขตชลประทาน” นี้ จึงควรเป็นกลุ่มแรกที่ควรได้รับการแก้ปัญหาความยากจน โดยปัจจัยแรกสุดในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรในพื้นที่นี้ คือ ต้องหาน้ำเพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เพราะ “น้ำ คือ ชีวิต” ถ้ามีน้ำ เกษตรกรก็มีทางเลือกในการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้หลากหลาย แต่คำถามที่สำคัญก็คือ “เราจะหาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรทุกครัวเรือนในพื้นที่นอกเขตชลประทานได้อย่างไร” นี่คือประเด็นสำคัญที่ตนอยากย้ำในวันนี้ คือ เรากำลังมอง “การบริหารจัดการน้ำ” ในฐานะ “เครื่องมือแก้จน” และเราจะใช้ “นวัตกรรม” มาแก้จนให้เกิดเป็นผลฤทธิ์ในทุกพื้นที่
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “การพัฒนาแหล่งน้ำ” มักเน้นการสร้างโครงการขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรได้ครบ อีกทั้งยังใช้งบประมาณมากและใช้เวลาก่อสร้าง นานเกินไปไม่ทันกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน ซึ่งปัญหาของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การมีปริมาณน้ำฝนน้อยเกินไป แต่อยู่ที่ความสามารถของเครื่องมือที่จะกักเก็บน้ำฝนมีประสิทธิภาพน้อยเกินไป เพราะฉะนั้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นทางออกที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความต้องการใช้น้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรของประชาชนในทุกพื้นที่ได้ นี่คือแนวคิดที่มาของ “นวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์” ที่ทางท่านอาจารย์สังศิต และคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหนุนนำ จนกลายมาเป็นหนึ่งในนโยบายแก้จนของประเทศไทย ในวันนี้ฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นเครื่องมือกักเก็บน้ำขนาดเล็กที่สามารถออกแบบการกักเก็บน้ำในแต่ละพื้นที่ได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร ได้มากกว่าเครื่องมือกักเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่สำคัญที่สุด คือ สามารถสร้างเสร็จได้ในเวลา อันรวดเร็วโดยใช้ระยะเวลาเพียง 5 – 15 วัน แม้ว่าฝายแกนดินซีเมนต์จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าสามารถสร้างเป็นจำนวนมากได้ เราจะสามารถออกแบบให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับตอบสนอง “ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี” สำหรับทุกครัวเรือนได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถอุดช่องโหว่ที่เป็นข้อบกพร่องของฝายประเภทอื่น ๆ ได้สำเร็จด้วย ฝายแกนดินซีเมนต์นี้เป็นทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านสังคม สร้างจากการใช้ดินในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการทำฝาย ทำให้ต้นทุนการสร้างฝายต่ำ สามารถสร้างเสร็จได้ไว สร้างเสร็จแล้วประชาชนได้ใช้น้ำทันทีตั้งแต่วันแรก และที่สำคัญคนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการก่อสร้าง และซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับ ท้องถิ่น เพราะเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ที่คิดขึ้นสำหรับใช้กับสภาพภูมิประเทศของไทยโดยเฉพาะ ถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ขอฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ช่วยกันระดมความคิดต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นอันจะยังผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชน สมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” อันเป็นการเน้นยํ้าถึงพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ของพระองค์ท่าน ในการที่จะสืบสาน และดำเนินการตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอย่างไม่หยุดยั้ง และทรงพร้อมที่จะต่อยอดให้เกิดประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นอีกแก่พสกนิกรของพระองค์ท่าน” นายอนุทินฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสาน ได้รับการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์จากคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งถือว่าเป็นความกรุณาและเป็นประโยชน์ยิ่ง ซึ่งตนเห็นพ้องกับท่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าควรรับหน้าที่ในการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อสร้างฝายฯ ต่อไป และเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด สั่งการให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ โดยมีแบบมาตรฐานฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองแนบส่งทุกจังหวัดแล้วด้วย ซึ่งในส่วนนี้คือแนวทางที่เราจะดำเนินและต่อยอดต่อไปในรูปแบบ ของ Smart Farming ในอนาคต เป็นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้จริง ซึ่งจะเป็นการแก้จนได้อย่างยั่งยืน
“ดังนั้น นโยบายแก้จนของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นวาระแห่งชาตินั้น จะต้องประกอบไปด้วยการสนับสนุนสวัสดิการเพื่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน การเปิดโอกาสให้ยกระดับชีวิตด้วยการศึกษา และการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรมทางความคิดและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทในประเทศของเรา” นายอนุทินฯ กล่าวในตอนท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1118/2566 วันที่ 20 พ.ย. 66