เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ครั้งที่ 1/2566 ในฐานะรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1 โดย มีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคส่วนราชการต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการจากภาคประชาชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) P-move ร่วมประชุมหารือ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฯ เพื่อเป็นกลไกในการกำกับเร่งรัดและติดตามการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
“กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งมั่นในการทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงได้มอบหมายให้ตนมาเป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสดียิ่งที่มีกระบวนการจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมปรึกษาหารือในเรื่องปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลของขบวนการประชาชน อาทิ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงา ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง จำนวน 907 ราย ซึ่งประกอบไปด้วยคนไทยพลัดถิ่น จำนวน 705 ราย มุสลิมจากพม่า จำนวน 202 ราย เครือข่ายชาวเลอันดามัน จำนวน 465 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวเล มอแกลน มอแกน อูรักลาโว้ย เครือข่ายฮักน้ำของ ที่เป็นชาวลาว จำนวน 164 ราย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าจะนำทุกข้อปัญหาไปดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยใช้กลไกระดับจังหวัด ระดับอำเภอ พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ไปประชุมปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยจะให้ท่านอธิบดีกรมการปกครองหรือรองอธิบดีฯ ที่ได้มอบหมาย ลงไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีตัวแทนจากส่วนกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
“สำหรับการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ จะมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การติดตาม ตรวจสอบ พร้อมการประเมินผลงานให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง สำหรับการขอสัญชาติไทยนั้น ในส่วนของภาคราชการก็จะต้องมีกรอบระยะเวลา มีแบบฟอร์มเอกสารหลักฐาน ที่จะทำให้ประชาชนผู้ร้องขอได้นำหลักฐาน หรือต้องนำองค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ อาทิ หากมีญาติพี่น้องเป็นคนไทยก็ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ เมื่อไม่สามารถยืนยันได้ ในขั้นตอนต่อไปก็ต้องนำเอกสารทางการแพทย์ หรือทางนิติวิทยาศาสตร์มายื่น ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรับทราบก็จะสามารถตรวจสอบในเชิงพื้นที่ได้ในเชิงลึกหรือที่เรียกกันว่า “Case by Case”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อหารือที่สำคัญอีกประการสำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ที่ตนจะดำเนินการให้มีการขับเคลื่อน คือ กระทรวงมหาดไทยจะได้มีหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขในการขอจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหาและการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเฉกเช่นพลเมืองผู้มีสัญชาติไทย
“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ที่ประชุมได้มีมติให้มีการจัดประชุมในทุกเดือน เพื่อรายงานปัญหาและความคืบหน้า พร้อมติดตาม พูดคุยปรึกษาหารือ เพื่อจะได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งหากพี่น้องประชาชนหรือบุคคลใดมีข้อสงสัย หรือพบปัญหา หรือมีข้อร้องเรียน หรือต้องการขอความช่วยเหลือในประเด็นปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล สามารถติดต่อผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือชี้แจงที่เป็นที่พึงพอใจ ก็สามารถส่งจดหมายแบบลงทะเบียน มาที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารจากส่วนกลาง ได้ไปเร่งรัด ดำเนินการแก้ไขติดตามปัญหา เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในตอนท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1120/2566 20 พ.ย. 2566