เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมได้ดำเนินกิจกรรมเคารพธงชาติ และร้องเพลงชาติไทย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติ สร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติธง ปีพระพุทธศักราช 2460 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครพนม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน ร่วมกิจกรรมฯ
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีนโยบายในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ให้เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นในสถาบันสำคัญของชาติ และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการส่งเสริม สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ให้มีความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทยและยึดมั่นในสถาบันสำคัญของชาติ
“จังหวัดนครพนมจึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างจิตสำนึกรักชาติ ด้วยการแสดงออกถึงความพร้อมของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ในการดำเนินกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย ซึ่งจะมีการทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยจังหวัดนครพนมมีกำหนดดำเนินกิจกรรมเคารพธงชาติ พร้อมกันทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เวลา 08.00 น. ในทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่)” นายวันชัยฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่ออีกว่า นับเนื่องย้อนไปเมื่อ 107 ปีก่อน คือ วันที่ 13 กันยายน 2459 อันเป็นปฐมเหตุของการใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย มีความเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวมหาดไทยโดยตรง สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมืองอุทัยธานี ที่มีพระยาพิไชยสุนทร (ทอง จันทรางศุ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองอุทัยธานี พสกนิกรต่างยินดีปรีดาร่วมกันในการประดับธงช้าง ซึ่งเป็นธงชาติในยุคนั้น แต่เนื่องจากธงช้างหายาก มีราคาแพง และต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ผู้คนจึงประดับธงช้างเท่าที่มีอยู่ และใช้ผ้าพื้นสีแดงขาว ประดับและจับจีบผ้าทั่วบริเวณ โดยทรงทอดพระเนตรพบว่า บ้านบางหลังมีการประดับธงช้างสลับกลับด้าน คือ ช้างนอนหงายปลายเท้าชี้ฟ้า ทำให้เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนครจึงทรงมีแรงบันดาลพระทัยในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 และพระราชทานธงชาติไทยให้มีลักษณะเป็นแถบสีเพื่อไม่ให้มีหัวมีท้าย หรือเรียกว่า “ธงไตรรงค์” มี 3 สี คือ “สีแดง” หมายถึง ชาติและเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในชาติ นั่นคือ ประชาชน “สีขาว” หมายถึง ศาสนา และ “สีน้ำเงิน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 ดังนั้น การเคารพธงชาติจะช่วยทำให้เรารำลึกนึกถึงความสำคัญของการมีธงชาติ ให้เราได้ช่วยกันรำลึกความหมายอันลึกซึ้งว่า ประเทศชาติจะมั่นคงเป็นปึกแผ่นเหมือนธงไตรรงค์ที่ไม่ขาด ไม่วิ่น และมีสีอันสำคัญหมายถึงสถาบันหลักโดยรวมจะยังคงมีความมั่นคงอยู่ได้ จะต้องอาศัยความรักความสามัคคีและความตื่นตัวช่วยกันต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชความเป็นไทย
“ขอขอบคุณข้าราชการ และบุคลากรทุกท่านที่ได้มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแสดงออกซึ่งความรักชาติ รักประเทศไทย รักและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติร่วมกับพี่น้องข้าราชการในทุกส่วนราชการ ขอให้ท่านนายอำเภอผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ได้ลุกขึ้นมาเป็นโซ่ข้อกลางในการหลอมรวมพลัง ร้อยรวมใจ ดึงเอาภาคีเครือข่ายพี่น้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่โน้มตัวลงไปหาประชาชน ทำงานให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด ช่วยกันเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี สิ่งที่ดีงาม Change for Good สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม สนองพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันจะยังผลทำให้ประชาชนคนในชาติมีความสุขที่ยั่งยืน ประเทศชาติมีความมั่นคงสถาพรตลอดไป” นายวันชัยฯ กล่าวในตอนท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1122/2566 20 พ.ย. 2566