วันนี้ (21 พ.ย. 66) เวลา 09.30 น. ที่แซนด์ เอ็กซ์โป แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (Sands Expo & Convention Centre) สาธารณรัฐสิงคโปร์ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 20 (20th SOMRDPE) โดยมี นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดย Ms. Leow Siu Lin ผู้อำนวยการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นประธานการประชุม และมีหัวหน้าเจ้าหน้าที่ระดับปลัดกระทรวงและผู้แทนกระทรวงด้านการพัฒนาชนบทและสวัสดิการจากประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมประชุม
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานราชการของไทยที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ได้ให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา (Her Royal Highness Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya) พระราชทานแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยทรงมุ่งหวังในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน มาขับเคลื่อนผ่าน “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา โดยได้ทำการคัดเลือกหมู่บ้านที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนามากที่สุด เช่น มีปัญหาความยากจน ปัญหาสาธารณภัย และปัญหายาเสพติด เป็นต้น ตำบลละ 1 หมู่บ้าน/ชุมชน รวม 7,255 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (King Bhumibol the Great) มาประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน/ชุมชน โดยผสานความร่วมมือของภาคีเครือข่าย 7 ภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ข้อที่ 17 (Partnership) ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ข้อ ได้แก่ 1) ด้านที่อยู่อาศัย โดยพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มั่นคงแข็งแรง ครัวเรือนมีส้วมถูกสุขลักษณะ 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn) มาส่งเสริมการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ 3) ด้านความสะอาด โดยส่งเสริมการคัดแยกขยะต้นทาง ด้วยหลัก 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การจัดการขยะชุมชน เช่น ตลาดนัดขยะ ธนาคารขยะ และจุดทิ้งขยะอันตราย เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) ด้านความสามัคคี ส่งเสริมการรวมตัวเป็นคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน เพื่อดูแลช่วยเหลือ 5) ด้านความร่วมมือ ส่งเสริมให้มีการพบปะกันเป็นประจำ ในลักษณะ “ร่วมพูดคุย ร่วมปรึกษา ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” 6) ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางศาสนาในระดับหมู่บ้าน ตามความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม รวมถึงการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้าน และ 7) ด้านความมั่นคงปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการดูแลคนในหมู่บ้านไม่ให้ติดยาเสพติด จัดการความเสี่ยงทางด้านกายภาพ เช่น มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ และมีทางสัญจรที่สะดวก เป็นต้น รวมถึงการลาดตระเวนหรือตั้งด่านตรวจรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน
“จากความสำเร็จของการดำเนิน “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” ดังกล่าว ที่มีแผนงาน/โครงการกว่า 20,000 โครงการ กระทรวงมหาดไทยจึงได้ขยายผลการดำเนินโครงการในปี 2567 สู่ “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา (Celebration on the Auspicious Occasion of His Majesty King’s 6th Cycle Buddhism Anniversary 28th July 2024) โดยจะดำเนินการในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน รวมกว่า 80,000 หมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมทั้งเพิ่มเกณฑ์ตัวชี้วัดอีก 1 ข้อ คือ การมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภค โดยส่งเสริมการกักเก็บน้ำในครัวเรือน และการรักษาฟื้นฟูแหล่งกักเก็บน้ำในหมู่บ้าน/ชุมชนตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” นายอรรษิษฐ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยกินดี อยู่ดี มีความสุข ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มุ่งกำจัดความยากจนในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประชาชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และพร้อมเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเพื่อความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน เพื่อประชาชนอาเซียนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1123/2566 วันที่ 21 พ.ย. 2566