วันนี้ (12 ม.ค. 67) นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง เปิดเผยว่า อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้ ในการสร้างความชุ่มชื้นให้กับหน้าดิน และปัญหาภัยแล้ง รวมไปถึงปัญหา PM 2.5 และต้นไม้ยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เป็นความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น เพื่อการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการร่วมกันทำสิ่งที่ดี Change for Good รวมไปถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามประกาศเจตนารมณ์ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ด้วยการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ทำให้คนได้รับประโยชน์ สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนในชุมชน
“อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ได้จัดกิจกรรม Kick-off ธนาคารต้นไม้ ด้วยการระดมพลังภาคีเครือข่าย 9 ตำบล ปลูกต้นไม้ และรวบรวมเป็นธนาคารต้นไม้ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ป่าชุมชน อันเป็นการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อาทิ การปลูกต้นไม้มงคล 9 ชนิด กิจกรรมพาเยาวชนเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ป่าชุมชน ฝึกฝน เรียนรู้เชิงปฏิบัติ เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน” นายเสฏฐวุฒิฯ กล่าว
นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ อำเภอบ้านสร้าง และกลุ่มธนาคารต้นไม้อำเภอบ้านสร้าง พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ยังได้ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนงาน “บ้านสร้างรักษ์โลก Think Globally, Act Locally คิดใหญ่ ทำในพื้นที่ ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมด้วยช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเฉพาะการทำให้พี่น้องประชาชนตลอดจนถึงเด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของดิน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน” หรือ “Sustainable Soil and Water for better life” เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อส่งต่อความยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของโลกเราไปยังลูกหลานของเราต่อไป
นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอบ้านสร้างมุ่งมั่นในการสร้างภาคีเครือข่ายในระดับอำเภอให้ครบทุกตำบลรวม 31 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบในระดับจังหวัดต่อไป โดยมีความสำเร็จของอำเภอบ้านสร้างที่ Garden House 2A ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง ซึ่งได้รับการยกระดับเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พร้อมที่จะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับพื้นที่ดังกล่าว
“ขอขอบคุณและชื่นชมในความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความเข้มแข็งของทีมภาคีเครือข่ายอำเภอบ้านสร้างทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทขับเคลื่อนแผนงานจนประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะทำงานแค่ในระดับพื้นที่อำเภอ แต่ก็เป็นภารกิจที่สามารถตอบสนองนโยบาย และเป้าหมาย SDGs ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลก อันจะก่อให้เกิดการสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยลดโลกร้อนผ่านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ตามแนวพระราชดำริ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีภาคีเครือข่ายสถานศึกษาและเยาวชนเป็นแกนหลักในการสืบสาน และต่อยอดให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายเสฏฐวุฒิฯ กล่าวทิ้งท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife #ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 52/2567 วันที่ 12 ม.ค. 2567