เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12.45 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี นางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางปรียาพรรณ ละอองนวล ภริยาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ข้าราชการและประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
เมื่อเสด็จถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเข้าสู่บริเวณนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีกลุ่มผู้เฝ้ารับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ จำนวน 30 กลุ่ม ได้แก่ ผ้าทอลายมงคลมนตราธิกาญจน์ จังหวัดกาฬสินธุ์, ชุมชนภูไทดำ จังหวัดกาฬสินธุ์, แพรวาโสภารักษ์ จังหวัดกาฬสินธุ์, ไหมสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์, ไชยมหา ไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์, ไหมมีชัย จังหวัดชัยภูมิ, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง ไหมมีชัย จังหวัดชัยภูมิ, วิสาหกิจชุมชนสหกรณ์จักสานกกเหล่าพัฒนา จังหวัดนครพนม, กลุ่มหัตถกรรมจากกกเหล่าพัฒนา จังหวัดนครพนม, นางจิระภา ด่านเจ้าแดง (แฝดสาว88) จังหวัดนครพนม, กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ จังหวัดบึงกาฬ, กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงสาร จังหวัดบึงกาฬ, กลุ่มแปรรูปฝ้ายธรรมมือ จังหวัดมุกดาหาร, กลุ่มทอผ้ายกดอกลายโบราณ จังหวัดร้อยเอ็ด, กลุ่มทอผ้าลัลณ์ลลิล จังหวัดร้อยเอ็ด, กลุ่มย้อมสีธรรมชาติลักษณ์พิน จังหวัดร้อยเอ็ด, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมวัยรุ่น Thai young silk จังหวัดศรีสะเกษ, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้อยนาเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ, กลุ่มจักสานหวายบ้านทับทิมสยาม 07 จังหวัดศรีสะเกษ, กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง จังหวัดสกลนคร, กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดง – หนองไชยวาลย์ จังหวัดสกลนคร, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสายรุ้งนาวาทอง จังหวัดสกลนคร, กลุ่มทอผ้าหัสดินทร์ จังหวัดสุรินทร์, กลุ่มจักสานวัสดุธรรมชาติ จังหวัดหนองคาย, กลุ่ม THORR’s จังหวัดอำนาจเจริญ, กลุ่มเฮือนไหมมนัสวรรณ ไหมแท้ที่แม่ทอ จังหวัดอุดรธานี, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำริมโขงเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี, กลุ่มต้นเทียนไหมไทย จังหวัดอุบลราชธานี, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำริมโขงเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และกลุ่มศิลปาชีพ ซึ่งทุกกลุ่มใช้สีและวัตถุดิบมาจากธรรมชาติตามแนวพระดำริแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) ที่พระราชทานแนวทางไว้ในการเสด็จเยี่ยมเยียนในปีที่ผ่านมา อันเป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลงานทุกชิ้นมีตราสัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่ทรงออกแบบและพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปมอบให้ทุกกลุ่มที่ดำเนินการพัฒนาผลงานตามพระดำริ นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีพระดำรัสให้รื้อฟื้นผ้าอัญญานาง ผ้าโบราณอำเภอบุญฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งการศึกษาค้นคว้าประวัติและเทียบเคียงกับผ้ากาบบัวซึ่งเป็นผ้าทอโบราณของจังหวัดอุบลราชธานี และภายหลังจากทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำเสร็จสิ้นแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงชุด กังวานก้องฆ้องทรายมูล โดยวงโปงลางบัวอุบล มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานโดยนักศึกษาและคณาจารย์ สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ชุมชนอันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มานำเสนอในรูปแบบนาฏศิลป์สร้างสรรค์ในการแสดงโปงลาง
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จไปยังบ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทอดพระเนตรนิทรรศการบ้านคำปุน แล้วเสด็จไปทรงสักการะปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปไม้โบราณปางห้ามสมุทร ศิลปะล้านช้าง จากนั้น เสด็จไปพระราชทานลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” แก่แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชิญไปมอบแก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ซึ่ง “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” นี้ เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทานหลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ “ลายวชิรภักดิ์” ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567” ที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”, “ลายหัวใจ” สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ และ “ลายดอกรักราษฎร์ภักดี” โดยทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชุด สิริวชิรายุ – อุบลราษฎร์ภักดี (Siri Vajirayu Ubonrathbhakdi) ที่เป็นการรวมพลังความรู้รักสามัคคีของเด็กและเยาวชนชุมชนบ้านหนองบ่อ นำเสนอการฟ้อนกลองตุ้มในชุดผ้าเมืองอุบลดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ ติดตามด้วยการฟ้อนผ้ากาบบัวของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศิลปินหมอลำวัยรุ่น เต๋า ภูศิลป์ อีกทั้งคณะฟ้อนถวายการต้อนรับของช่างทอผ้าบ้านคำปุน ทั้งมาลัยสาย และธงอีสานประกอบความงามของชุดการแสดงนี้ โดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีทุกคน ล้วนมีความปลื้มปีติยินดีและสำนึกในพระกรุณาคุณในการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ มาพระราชทานลายผ้า “สิริวชิราภรณ์” ที่บ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยความจงรักภักดีอย่างสูงสุด
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 296/2567 วันที่ 22 ก.พ. 2567