วันนี้ (23 ก.พ. 67) นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ออกมาชี้แจง กรณีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการโครงการสร้างฝายเอลนีโญ รวมเป็นเงินกว่าร้อยล้านบาทตามที่ปรากฏในข่าวในสื่อออนไลน์ โดยนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนนั้น กรณีดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณตามความประสงค์ของ อปท. ที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาที่ส่วนกลาง โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับความเห็นของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณางบประมาณจากสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 และเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ รวมถึงเป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบ และข้อกฎหมายกำหนดไว้ทุกขั้นตอน อีกทั้งยังมีกระบวนการพิจารณาโครงการ เพื่อตรวจสอบความพร้อมอีกหลายขั้นตอน นอกจากนี้ ยังได้กำชับทุก อปท. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มีการดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเปิดเผยได้ และมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างฝ่ายเอลนีโญอย่างชัดเจนในการก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ในด้านการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และป้องกันภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 มีนโยบายเร่งด่วนด้านความมั่นคง ที่สอดคล้องกับสภาวะของโลกในการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามและภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อการเตรียมการรับมือภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อไม่ให้กระทบกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นขอเรียนว่า โครงการสร้างฝายเอลนีโญเป็นการก่อสร้างฝายดินซีเมนต์โดยใช้แบบมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง มี 3 แบบ ประกอบด้วย ขนาดสูง 1 เมตร 1.5 เมตร และ 2 เมตร ความยาวตั้งแต่ 5 – 60 เมตร ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างฝายดินซีเมนต์ในแหล่งน้ำขนาดเล็ก (มีความยาวไม่มากตามบริบทของพื้นที่) ส่วนวงเงินงบประมาณเป็นไปตามราคาวัสดุในแต่ละพื้นที่ สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างฝายเอลนีโญจะทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และบริเวณรอบฝายฯ เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน มีน้ำเก็บกักในหน้าแล้งเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
“การแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ประกอบกับความเห็นของนักวิชาการ โดยด้าน รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ได้คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะมีระยะเวลายาวนานถึงเดือนกรกฎาคม 2567 จึงต้องมีการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งให้ อปท. ที่มีความประสงค์เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งมาที่ส่วนกลาง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 และเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีโครงการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ จำนวนทั้งสิ้น 4,345 โครงการ รวมงบประมาณ 2,020.6284 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) ฝายดินซีเมนต์ 3,320 โครงการ งบประมาณ 1,252.1780 ล้านบาท 2) ฝายทั่วไป จำนวน 350 โครงการ งบประมาณ 282.7015 ล้านบาท 3) ก่อสร้างระบบประปา จำนวน 114 โครงการ งบประมาณ 206.5595 ล้านบาท 4) ขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 320 โครงการ งบประมาณ 127.3660 ล้านบาท 5) ธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 225 โครงการ งบประมาณ 116.1098 ล้านบาท และ 6) ขุดสระ จำนวน 16 โครงการ งบประมาณ 35.7136 ล้านบาท” นายขจรฯ กล่าว
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง หากอปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง โดยมีจังหวัดและอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแล อปท. ให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
“ดังนั้น จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การจัดตั้งงบประมาณโครงการสร้างฝายเอลนีโญ เป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบ และข้อกฎหมายกำหนดไว้ทุกขั้นตอน มีกระบวนการพิจารณาโครงการในหลายขั้นตอน โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับความเห็นของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณางบประมาณขากสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ จึงขอยืนยันว่าทุกกระบวนการจัดตั้งงบประมาณ ตลอดจนดำเนินโครงการ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเปิดเผยได้ ซึ่งโครงการก่อสร้างฝ่ายเอลนีโญก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และป้องกันภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้รวมถึงในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่และพันธกิจหลักของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อธิบดี สถ. กล่าวเน้นย้ำ
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 298/2567 วันที่ 23 ก.พ. 2567