เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจากพระปัญญาวชิรโมลี และพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารระดับกรมและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม และเป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (VCS) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การร่วมประชุมพูดคุยกันเป็นประจำทุกเดือนเป็นสิ่งที่ดีที่เราต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้มีหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เฉกเช่นที่พี่น้องชาวมหาดไทยในส่วนภูมิภาค ทั้งที่จังหวัด อำเภอ มีการประชุมอย่างเป็นทางการเป็นประจำในทุกเดือน อันเป็นการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้เกิดผลสำเร็จของงานอย่างยั่งยืน ตาม 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย” ในทุกเรื่องอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยแบบ “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” ซึ่งเมื่อได้มีการพูดคุยแล้ว จะเกิดการนำปัญหาและแนวทางในการพัฒนาตั้งแต่เรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่มา “ร่วมคิด” วางแผนบูรณาการทำให้เกิด Action plan สู่การ “ร่วมทำ” สิ่งที่ดีให้กับพื้นที่ ชุมชน ซึ่งจะเกิดการ “ร่วมรับประโยชน์” จากสิ่งที่ช่วยกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้ง 4 กระบวนการดังกล่าวนี้ จะช่วยส่งเสริมให้คนในสังคมเกิดความตระหนักและลุกขึ้นมาช่วยกันทำความ ดี ด้วยหัวใจ และได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
“กระทรวงมหาดไทย ได้รับเกียรติจากคุณสมชาย นิลศรี ที่ได้ประพันธ์และจัดทำ Music Video เพลง “ความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด” ที่ได้ร้องเปิดตัวในงานเฉลิมฉลองธงตราสัญลักษณ์ฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 67 ที่กระทรวงมหาดไทย มีเนื้อหาสะท้อนการปลุกเร้าให้คนในสังคมไทยได้เกิดความตื่นตัว ฉุกคิด และได้รับการปลูกฝังในเรื่อง “การทำความ ดี ด้วยหัวใจ” มีจิตอาสาที่จะทำสิ่งที่ดีเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทน มีเป้าหมายสำคัญดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำให้สิ่งที่คนไทยเคยมี คือ การมีจิตใจดีงาม มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น และทำสิ่งที่ดีเพื่อส่วนรวม ฟื้นคืนกลับมาและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม กระทรวงมหาดไทยจึงใช้เพลงนี้ในการสร้างความตระหนักรู้เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา โดยเชิญชวนประชาชนร่วมรับชมรับฟังเพลง “ความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด” จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกันเผยแพร่บทเพลงนี้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากที่ทางอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้นำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะวิทยุกระจายเสียง หอกระจายข่าวชุมชนอย่างคึกคัก เพราะประโยชน์ของการเปิดเพลงนี้ นอกจากจะเพื่อความสุขและความสุนทรีย์แล้ว ยังเป็นการช่วยจรรโลงสังคม สร้างค่านิยมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนผ่านการจดจำจากสิ่งที่ได้ยิน ถ่ายทอดส่งผ่านต่อไปยังลูกหลานเยาวชน ทำให้เพลงนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการทำสิ่งที่ดีเพื่อสังคม ตอกย้ำความตระหนักถึงความรักชาติ ความกตัญญูกตเวที ด้วยการที่คนในชาติภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ร่วมกันทำความดีผ่านบทเพลงเฉลิมพระเกียรติฯ ที่กระทรวงมหาดไทยได้อำนวยการจัดทำขึ้น เพื่อเป็นหัวเชื้อเชิญชวนร่วมทำความดีเพื่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติที่เราทุกคนมุ่งมั่นช่วยกันอย่างเต็มกำลัง ควบคู่การรณรงค์สวมใส่เสื้อเหลือง หรือเสื้อผ้าไทยสีเหลือง ประดับเข็มตราสัญลักษณ์ฯ ตลอดทั้งปี เพื่อแสดงออกและเป็นสิ่งเตือนใจว่าเราจะตั้งใจทำความดีเป็นปฏิบัติบูชาถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้งมุ่งมั่นทำงานเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายพระพรชัยมงคลอย่างต่อเนื่อง เพราะคนมหาดไทยเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่พระราชทานโครงการพระราชดำริให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อทำให้ประชาชนมีความสุขควบคู่การรักษาความมั่นคงภายใน จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราในการสนองพระราชปณิธาน เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด ทั้งการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำคูคลอง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติที่พวกเราทุกคนต้องมุ่งมั่นตั้งใจทำ ช่วยกัน Change for Good ทำความดีปฏิบัติบูชา โดยจุดแตกหักของการทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามกับพี่น้องประชาชนอยู่ที่หมู่บ้าน ดังนั้น “หมู่บ้านยั่งยืน” คือคำตอบที่เราทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนตลอดทั้งปีมหามงคลและตลอดชีวิต
“ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการขยายผลผู้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น “ครู ข” ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้วางระบบด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ ติดตาม และประเมินผลการรณรงค์ส่งเสริมการขับเคลื่อน “วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ศีลธรรม และหน้าที่พลเมือง” ให้ครบถ้วนทุกพื้นที่ ผ่านการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของสถานศึกษาในจังหวัด ทั้งในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นอกจากนี้ ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเร่งดำเนินการจัดทำตำราคู่มือการเรียนการสอน โดยรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน แต่ทว่า เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการ “นำร่อง” ดำเนินการ จึงขอให้ใช้หนังสือ “นวโกวาท” บทประพันธ์โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สอดแทรกสาระคุณธรรมจริยธรรมและศีลธรรม ในการเรียนการสอนไปพลางก่อน นอกจากนี้ เรื่องข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือน ตามฐานข้อมูล “ThaiQM” ขอให้กรมการปกครอง จำแนกครัวเรือนที่มีเลขที่บ้านให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน วัด โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ รวมถึงจำแนกจำนวน ทั้งในเขตเทศบาล นอกเขตเทศบาล และกรุงเทพมหานคร เพื่อจำแนกแยกให้ชัดเจนว่าสรุปมีครัวเรือนที่ต้องจัดเก็บฐานข้อมูล ThaiQM ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชน อันจะบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ซึ่งจะนำไปสู่ทำงานแบบบูรณาการ “One data for One plan” อย่างแท้จริง เพราะฐานข้อมูลนี้จะเป็น Big Data ของประเทศ ที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทุกหน่วย ทุกสังกัดของประเทศไทย เพื่อใช้ในการพัฒนาสังคมและหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาระบบการทำงานแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ขอให้ทุกจังหวัดได้เสาะแสวงหาและเชื้อเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านสารสนเทศของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จัดตั้งเป็น “ทีมงานพัฒนาระบบสารสนเทศของจังหวัด” เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบเพื่อสร้างรายได้ ขยายโอกาส ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การขจัดปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยทุกจังหวัดสามารถทำได้ทันที (Action Now!) โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ดังเช่นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ทำระบบการรายงานและติดตามในทุกมิติสำเร็จไปก่อนแล้ว ขณะเดียวกัน ในส่วนกลาง ก็ขอให้ได้รวบรวมบุคลากรที่มีความรู้สามารถเรื่องสารสนเทศของแต่ละกรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัด ที่มี “Passion” เรื่อง IT มาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็น One team ที่สามารถส่งเสริมทักษะความรู้ความสามารถขยายผลต่อยอดสู่การปรับปรุงและพัฒนางานสำคัญของกระทรวงมหาดไทยต่อไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เป็นผู้นำในระดับพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดโครงการ “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาออกกำลังกาย ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นแบบอย่างในการออกกำลังกาย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 2 พระองค์ อีกทั้งเป็นการสร้างการรับรู้เรื่องการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพื่อห่างไกลโรค ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสุขภาพของประชาชน มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมทั่วประเทศ 1 ล้านคน จึงขอให้ทุกจังหวัดได้รณรงค์เชิญชวนประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน มีเป้าหมายส่งเสริมจำนวนประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของประชากรของจังหวัด และให้การสรุปผลการสมัครแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งในวันงาน สามารถเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมสวมเสื้อสีเหลืองร่วมกิจกรรม และภายในงาน ขอให้ได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง และให้ความรู้เรื่องสุขภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เราทุกคนได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เต็มสติกำลัง อันเป็นการทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” รวมถึงเป็นผู้นำและเชิญชวนประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ตลอดทั้งปี 2567 นี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1408/2567 วันที่ 17 ก.ค. 2567