วันนี้ (21 ก.ค. 67) นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราด ได้จัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะผลิตภัณฑ์ผ้าทอจังหวัดตราด การมัดลาย การย้อมสี จากธรรมชาติ และการทอผ้า ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ในระหว่างวันที่ 5-24 กรกฎาคม 2567 โดยตนได้มอบหมายให้ นายณัฏฐพล ศรีพันธุ์ พัฒนาการจังหวัดตราด เดินทางไปให้กำลังใจแก่เข้าฝึกอบรม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากสมาชิกกลุ่มทอผ้าบางปิด ตำบลบางปิด กลุ่มทอผ้าบ้านธรรมชาติล่าง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าคลองสองน้ำ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าคลองสองน้ำ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยมี นายวิจิตร แก้วกาหลง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตราด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางไปให้กำลังใจในครั้งนี้ด้วย
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้การฝึกการขึ้นลายบนผ้าให้มีความประณีตและงดงาม โดยกลุ่มทอผ้าบางปิด ได้ใช้ลายสิริวชิราภรณ์หมี่คั่นทับทิมสยามในการทอลายผ้า กลุ่มทอผ้าบ้านธรรมชาติล่าง ได้ใช้ลายสิริวชิราภรณ์ธรรมชาติในการทอลายผ้า และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าคลองสองน้ำ ได้ใช้ผ้าลายประยุกต์สิริวชิราภรณ์ตราดสีทองในการทอลายผ้า ซึ่งในภาพรวมของการฝึกอบรมถือว่าผู้เข้าร่วมทุกคนมีความตั้งใจ และมีความพร้อมสำหรับการเรียนรู้พัฒนาฝีมือการทอผ้าอย่างเต็มที่
“สำหรับการจัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะผลิตภัณฑ์ผ้าทอจังหวัดตราดในครั้งนี้ มีแรงบันดาลใจมาจากแนวพระดำริ Sustainable Fashion ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านสีทอผ้า ลวดลาย รูปแบบการตัดเย็บ เพราะทรงเล็งเห็นว่า แฟชั่น คือ ความชอบ เป็นรสนิยมคนที่ไม่คงที่ แต่ก็สามารถวิวัฒนาการได้ โดยเฉพาะลายพระราชทาน ที่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย เป้าหมายสำคัญ คือ ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเพราะงานหัตถกรรม ที่สามารถทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้และเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำ คือ การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ทั้งการปลูกไม้ให้สีธรรมชาติ การแลกเปลี่ยนวัสดุภายในประเทศระหว่างกัน และการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านสีทอผ้าจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs“นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาจังหวัดตราด ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานผ้าพื้นถิ่นและต่อยอดให้มีกระบวนการทอผ้าที่มีความหลากหลายตามความนิยมของท้องตลาดมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นกระบวนการที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหลากหลายชนิด รวมไปถึงกรรมวิธีในการผลิตที่จังหวัดตราดได้ฝึกอบรมการย้อมผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบหูกวาง ใบขี้เหล็ก หรือ โปรงแดง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ ต้องการให้ผ้าของจังหวัดมีกระบวนการผลิตที่มีระบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต รวมไปถึงการย้อมสีที่ใช้วัตถุดิบมาจากธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกมากขึ้น มีโอกาสขยายผลทางการตลาด โดยจังหวัดตราดจะได้ดำเนินการขับเคลื่อนและต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนทำให้ผืนผ้าไทยมีลมหายใจ ทำให้ผู้ประกอบการและองคาพยพของผ้าไทยทั้งระบบสามารถเดินหน้าเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะผ้าไทยมิได้เป็นเพียงแค่เครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่เป็นเครื่องสะท้อน “รากเหง้าทางวัฒนธรรม” เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของคนไทยที่พวกเราทุกคนจะเป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงรักษาด้วยการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” และขอให้ทุกท่านได้ภาคภูมิใจว่า เงินทุกบาทที่ซื้อผ้าไทยไปจะตกไปถึงผู้ผลิต และผู้ประกอบการผ้าอย่างแน่นอน ท้ายนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยเพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ดีกินดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนสืบไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1428/2567 วันที่ 21 ก.ค. 2567