วันนี้ (22 ก.ค. 67) เวลา 15.00 น. ที่บ้านหนองไม้เขว้า หมู่ที่ 4 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมตรวจเยี่ยม โดยได้รับเมตตาจาก พระปลัดไพรวรรณ์ ขันติพโล เจ้าอาวาสวัดไผ่สามเกาะ และพระสมบัติ ขันติสาโร รองเจ้าอาวาสวัดเจริญธรรม ร่วมให้การต้อนรับ โดยนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรี นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี นายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี หัวหน้าส่วนราชการ นายเกียรติศักดิ์ หอมเย็นใจ นายอำเภอบ้านโป่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสา ร่วมให้การต้อนรับและร่วมรับฟังนโยบาย
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนตามโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Villlage) นิทรรศการการขับเคลื่อนธนาคารขยะ โครงการทางนี้มีผลผู้คนรักกัน บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และเยี่ยมชมบ่อน้ำตื้นประจำหมู่บ้าน พร้อมรับชมการแสดงรำวงมหาดไทย และกล่าวพบปะผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนในพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนมีความผูกพันกับพื้นที่โซนอำเภอบ้านโป่งและโพธาราม เพราะตนเคยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอโพธาราม จึงมีความรู้จักมักคุ้นกับผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่หลายท่าน และจากการมาเยี่ยมบ้านหนองไม้เขว้าในวันนี้ พบว่า “พี่น้องประชาชนทุกคนทำอย่างดีที่สุดอยู่แล้ว” ซึ่งสิ่งที่ทุกคนได้ทำ ได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของพวกเรา จึงต้องขออนุโมทนาบุญอย่างยิ่ง เพราะการที่ทุกคนทำให้คน 659 คน 233 ครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละไม่เกิน 3 คน เป็นความท้าทายของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่จะต้องช่วยกันทำอย่างไรไม่ให้หมู่บ้านที่ดีแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านร้าง ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้มีบุตร และเลี้ยงดูอย่างถูกต้องตามหลักสาธารณสุข คือ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรง เพื่อที่จะได้มีลูกหลานรุ่นต่อไปมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพื้นที่ของพวกเรา
“ขอชื่นชมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพูนความมั่นคงด้านอาหาร โดยน้อมนำพระราชดำริ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองและทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเรื่อง “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” เราสามารถขยายผลให้มีการเลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เพราะเรื่องใหญ่ของชีวิต คือ การทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีอาหารครบทุกหมู่บริโภคทุกวัน โดยเฉพาะไข่ ซึ่งมีสารอาหารให้เราครบถ้วน ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุก็จะมีร่างกายแข็งแรง เด็กเล็กจะมีสมองดี มีสุขภาพแข็งแรง จึงขอให้เรารณรงค์ส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านได้บริโภคผักที่มีความปลอดภัยควบคู่กับการเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เพื่อให้มีไข่ไว้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 2 แห่งในพื้นที่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการให้มีการเลี้ยงไก่ เพื่อให้เด็กได้มีความรู้ด้านการเลี้ยงไก่ และมีสารอาหารโปรตีนจากไข่ โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมกับจังหวัดราชบุรี ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้มาศึกษาดูงานเป็นต้นแบบขยายผลให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้เราต้องร่วมกันส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการส่งเสริมทำให้พี่น้องประชาชนได้หันมาออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพร่างกายและดูแลสมองของเรา เพราะทุกความฝันของเราล้วนมาจากสมอง ดังนั้นการที่ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น เรื่องสุขภาพอนามัยจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต เราทุกคนจึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัย เช่น เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค รวมทั้งเผยแพร่ความรู้โรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชนทั้งประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองด้วยการให้ความรู้เชิงรุกในพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงขอให้พวกเราทุกคนได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต (Walk Run Bike Fighting STROKE) ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ให้มากที่สุด และในวันการจัดกิจกรรมจริงนั้น สามารถจัดกิจกรรมภายในหมู่บ้านของพวกเราก็ได้ และการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างใดทั้งสิ้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังที่ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุงได้กล่าวว่า การขุดบ่อน้ำตื้นสามารถแก้ปัญหาน้ำบาดาลที่เป็นหินปูนได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งถือเป็นหลักการพึ่งพาตนเองให้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ “เป็นเรื่องที่จำเป็น” เพราะบ้านเราทำการเกษตรเป็นหลัก การได้มีแหล่งน้ำประจำครัวเรือน ประจำคุ้มบ้าน ประจำหมู่บ้าน สามารถช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นการขยายโอกาสในการทำมาหากิน ซึ่งโชคดีว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเรามีพื้นที่ต่อเนื่องจากจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายอำเภอทุกอำเภอ ได้ขยายผลเรื่องบ่อน้ำตื้นประจำครัวเรือน คุ้มบ้าน หมู่บ้านให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วทั้งจังหวัด
“ขอให้พวกเราทุกคนระลึกเสมอว่า ทุกสิ่งที่ทุกท่านทำนี้เป็นเรื่องที่ดี และมีแต่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จึงขอให้พวกเรายังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน น้อมนำหลักการทรงงาน หรือหลัก 4 ร่วม (4 ร) คือร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งทุกเรื่องต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างไม่หยุดยั้ง จึงจะเรียกว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และประการสำคัญต้องมุ่งมั่นเป็นจิตอาสา ทำความ ดี ด้วยหัวใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน ดังแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมาให้กับพวกเราคนไทยทุกคน ซึ่งคำว่า “จิตอาสา” ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ แต่ขอแค่มีหัวใจที่จะทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ดังบทเพลงความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ที่พวกเราทุกคนได้ร่วมรับฟังในวันนี้ อันจะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
นายเกิยรติศักดิ์ หอมเย็นใจ นายอำเภอบ้านโป่ง กล่าวว่า พื้นที่บ้านหนองไม้เขว้า หมู่ที่ 4 ตำบลเขาขลุงนี้ เดิมมีชื่อเรียกตามลักษณะภูมิประเทศว่า บ้านหนองไม้เขว้า ซึ่งมีต้นไม้อยู่ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นคือ “ต้นเขว้า” จึงได้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านหนองไม้เขว้า” ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นภาษาหลัก ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ มีพื้นที่ประมาณ 2.95 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,842 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม รอบบริเวณเชิงเขาขลุง มีคลองชลประทานไหลผ่านหมู่บ้าน สภาพดิน เป็นดินเหนียว และดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวจ้าว ข้าวโพด หญ้าเลี้ยงสัตว์ มีจำนวนประชากร 659 คน 233 ครัวเรือน 4 คุ้มบ้าน ได้แก่ คุ้มชายเนิน คุ้มหนองไม้เขว้า คุ้มเขตสายคลอง 9 คุ้มเขตหลังฟาร์ม ทำงานแบบ “มีส่วนร่วม เสียสละทำงานแบบพี่น้อง ครอบครัว” โดยให้ความสำคัญกับการธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ มีการจัดเวทีประชาคม โดยเมื่อมีการเสนอแนะก็จะนำสิ่งที่ได้รับข้อเสนอแนะมาหารือเพื่อที่จะพัฒนาหมู่บ้านของเรา มีความรักความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจิตอาสา ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
นายสมบัติ เทพรส นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขลุง กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) พื้นที่บ้านหนองไม้เขว้า ตามตัวชี้วัด 8 ตัวชี้วัดที่กำหนดนั้น โดยเฉพาะในด้านการจัดหาแหล่งน้ำตื้นประจำครัว ประจำคุ้มบ้าน ประจำหมู่บ้าน สามารถทำให้ในพื้นที่ประชาชนมีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ และยังแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลที่เป็นหินปูนได้อย่างดีเยี่ยม สำหรับด้านการจัดการขยะ หมู่บ้านหนองไม้เขว้าได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งปัญหาขยะนั้นเป็นปัญหาใหญ่ และค่าการจัดการขยะนั้นในภาพรวมทั้งประเทศนั้นเป็นหมื่นล้าน ซึ่งขยะทั้งหมดนั้นครึ่งหนึ่งเป็นขยะเปียก จึงได้มารณรงค์ในเรื่องนี้ เพราะขยะเปียกนั้นส่วนใหญ่เกิดจากครัวเรือน จึงต้องแก้จากครัวเรือน การที่ให้มีการจัดทำถังขยะเปียกก็เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านได้มีความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งสามารถช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของท้องถิ่นลดลง เพราะเป็นหน้าที่ของทุกคน อีกทั้งในด้านการบริหารจัดการขยะ ก็สามารถทำให้เป็นหมู่บ้านที่มีความสะอาด สองข้างทางมีการปลูกพืชผักสวนครัว ตามโครงการพระราชดำริ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงการขับเคลื่อนงานตามแนวทางหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในทุกมิติ จนประสบความสำเร็จ ด้วยพลังความร่วมมือของประชาชนคนในหมู่บ้านทุกคน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1440/2567 วันที่ 22 ก.ค. 2567