วันนี้ (21 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ในทุกมิติอย่างยั่งยืน ด้วยความตระหนักและการให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาทิ การส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนดฯ ภายใต้โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวไทยพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนทีปังกรนภัทรบุตร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการตอกย้ำภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ “ผู้นำการบูรณาการทุกส่วนราชการในระดับพื้นที่” ตนจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย” มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายรองประธาน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ปลัดจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ กำหนดแนวทางและกำกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ภาคีเครือข่ายตามภูมิสังคมภายใต้การนำการบูรณาการของนายอำเภอ รวมทั้งติดตาม ประเมินผลและให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งกำชับแนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย 6 แนวทาง ได้แก่ 1. การส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนช่วงก่อนตั้งครรภ์และวัยทารก ด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์ ตามคู่มือการปฏิบัติตามโครงการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกเพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยค้นหาหญิงตั้งครรภ์และสร้างความตระหนักให้แก่หญิงตั้งครรภ์ได้ทราบถึงอันตรายของภาวะคลอดก่อนกำหนด การฝากครรภ์ การบำรุงครรภ์ และมีกลไกในระดับพื้นที่ให้คำปรึกษาผู้ที่ตั้งครรภ์ให้การช่วยเหลือและการสงเคราะห์ให้สามารถดูแลบุตรอย่างถูกต้อง รวมทั้งให้นายทะเบียนซึ่งมีหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสของอำเภอเสริมองค์ความรู้หลักการวางแผนการมีบุตรตามแนวทางและนโยบายของรัฐบาล เช่น การตรวจสุขภาพของคู่สมรส เป็นต้น และในด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนช่วงวัยทารก โดยสนับสนุนให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และได้รับวัคซีนสำหรับทารกตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ทารก 2. การส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนช่วงวัยเด็กเล็ก โดยให้คำแนะนำพ่อแม่ดูแลโภชนาการด้านอาหาร และสุขภาวะแก่บุตร ด้วยการให้บริโภคไข่ไก่ อย่างน้อยวันละ 3 ฟอง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเข้าถึงวัคซีน ควบคู่การปลูกฝังบุตรหลานให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ผ่านการเรียนรู้การทำความเคารพบุพการี การร่วมกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม อยู่เป็นประจำ เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก รวมทั้งกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดกิจกรรมเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก อาทิ จัดพื้นที่ให้มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อเพิ่มพื้นพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต.ทั้งร่างกาย สมอง อารมณ์ จิตใจ วินัย จากการเล่น การสร้างสนามจักรยานขาไถ เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้ออกกำลังกายด้วยการนำขาไปไถกับพื้น ซึ่งจะทำให้เด็กได้รู้จักพัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการบังคับใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ และยังเป็นการสร้างความสุขทางด้านจิตใจ สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินและการอยู่ร่วมกันของสถาบันครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่เป็นรากฐานสำคัญในการหล่อหลอม ขัดเกลา และพัฒนาคนให้เติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม นอกจากนี้ ให้ส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน การร้องเพลงชาติด้วยความฮึกเหิม การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงสดุดีจอมราชา ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดี และเพลงปลุกใจต่าง ๆ เช่น เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี เพลงรักเมืองไทย เพื่อเสริมสร้างพลังแห่งความรู้รักสามัคคีและรู้หน้าที่ของการเป็นเด็กและเยาวชนที่ดี รวมทั้งร่วมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง หมั่นลงพื้นที่โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจติดตามการประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับเด็กอย่างสม่ำเสมอ และกำชับผู้นำท้องที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายดูแลและพัฒนาพื้นที่สาธารณะในชุมชน/หมู่บ้าน ตลอดจนถึงภายในบริเวณบ้านเรือนให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย อาทิ ยาเสพติด การพนัน รวมถึงอบายมุขอื่น ๆ ที่จะส่งผลทำให้เด็กคุ้นชินและมีสำนึกว่าสิ่งแวดล้อมในลักษณะเช่นนั้นเป็นสิ่งปกติ
“ในส่วนของแนวทางที่ 3. การส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนช่วงวัยเรียน โดยส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในสังกัดและกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำหลักสูตร 3 วิชาที่สำคัญกับความเป็นชาติไทย สอดแทรกผ่านการเรียนการสอนในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ซึมซับ หล่อหลอมความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ประกอบด้วย วิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาศีลธรรม ร่วมกับวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรของกระทรวงมหาดไทยและวิทยากรศูนย์อำนวยการจิตอาสาสาพระราชทาน รวมทั้งต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาไทยที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทั้งการประกวดแต่งคำประพันธ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นสมองด้านการเขียน ให้เด็กมีคารมคมคาย รู้จักเรียบเรียงเล่าเรื่องราวได้คล้องจอง และส่งเสริมให้เด็กในวัยเรียนบริโภคไข่อย่างน้อยวันละ 3 ฟอง โดยจัดหาพันธุ์ไก่พื้นบ้าน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ คนละ 3 ตัว และได้มีไข่ไก่ไว้บริโภค เพื่อเรียนรู้วิชาชีววิทยาผ่านการปฏิบัติจริง รวมถึงการปลูกสมุนไพรต่าง ๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน อีกทั้งส่งเสริมให้เด็กได้ปลูกต้นไม้ประจำชีวิต คนละ 2 ต้น และหมั่นดูแลรักษาต้นไม้ให้เติบใหญ่จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้วิชาชีววิทยาผ่านการปฏิบัติจริง 4. การส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนช่วงวังผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้กับเด็ก เยาวชน ในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้เกิดการหล่อหลอมความรู้แบบรุ่นสู่รุ่นและเป็นการส่งเสริมการสร้างความรัก ความอบอุ่นของสมาชิกในหมู่บ้าน/ชุมชน และส่งเสริมประชาชนให้รู้จักการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนและนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้าน และโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อสร้างมิตรภาพที่ดีในชุมชน สร้างชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน จัดทำระบบ การรวมกลุ่มในรูปแบบ “หัวหมวด หัวหมู่” โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ลงพื้นที่ติดตามและให้คำแนะนำประชาชนให้เอาใจใส่ในการดูแลตนเอง และคนในครอบครัวรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใช้เวลาว่างออกกำลังกายพัฒนาสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตที่ดี และคอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลำบากโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งส่งเสริมการออกกำลังกาย โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นประธาน เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี โดยนายอำเภอส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ออกกำลังกาย และกำหนด KPIs ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย อาทิ ลานวัด ลานโรงเรียน ริมถนนหรือป่าชุมชน รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และรณรงค์ไม่ให้ประชาชนในพื้นที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ดำเนินโครงการ เดิน วิ่ง บั่น อัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในทุกจังหวัด ภายใต้แนวคิด “คนไทยสมองดี (Healthy Thais; Healthy Brains)” เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างความรู้โรคหลอดเลือดสมองแก่ประชาชน ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกาย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรณรงค์เชิญชวนประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ตามเป้าหมาย 1 ล้านคน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ในแนวทางที่ 5. ให้นำแนวทางตามตัวชี้วัดการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมงาน ทั้งทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยังยืน และทีมคณะกรรมการหมวดบ้าน (คุ้มบ้าน) ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของผู้นำทุกหมู่บ้าน และผู้นำหมู่บ้านไปสร้างความเข้มแข็งให้กับหัวหมวดบ้าน หรือผู้นำคุ้มบ้านและมีโครงสร้างการดูแลคนในหมู่บ้านในลักษณะ “หมวดบ้าน” หรือ “คุ้มบ้าน” หมั่นพูดคุย ประชุม สร้างพลังความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน ให้เกิดความเหนียวแน่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และมีระบบงานการข่าวในพื้นที่ ด้วยการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารไปนายอำเภอ และ 6. นำแนวทางตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย บันทึกข้อตกลงบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยังยืน บันทึกข้อตกลงโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และบันทึกข้อตกลงโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” มาเป็นแนวทางในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัยด้วย ทั้งนี้ ให้จังหวัดพิจารณาให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามแนวทางการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย และมีการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สุขของประชาชนในจังหวัดอย่างยั่งยืน
“สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเด็ก เยาวชน มีความรู้พื้นฐานสำหรับวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีด้วยกลไกในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน และเผยแพร่ผ่านทั้งสื่อออนไลน์ และวิทยุชุมชน หอกระจายข่าว เสียงตามสาย เพื่อให้ความรู้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงการสนับสนุนการศึกษา การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กทุกคนมีรากฐานที่เข้มแข็ง ทำให้สังคมไทยมีความมั่นคง โดยเริ่มจากการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1623/2567 วันที่ 21 ส.ค. 2567