วันนี้ (21 ส.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานภารกิจสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย โดยน้อมนำแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำงานสอดประสานร่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยกัน “Change for Good” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคม
“ในวันนี้กระทรวงมหาดไทยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางมาหารือ โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทย มีนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมหารือ โดยทาง ศ.นพ.กีรติ ยังได้เชิญชวนให้กระทรวงมหาดไทยร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการรณรงค์ส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา ผู้ประสบเหตุกลุ่มเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพก หรือกระดูกในส่วนอื่น ๆ จนทำให้ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด และจากงานวิจัยพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม ประมาณ 684,000 ราย และจากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชากรไทยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบเหตุหกล้มทุกปี โดยในปี 2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม จำนวน 1,255 ราย คิดเป็น 10.2 ต่อประชากรผู้สูงอายุแสนคน และยังพบว่ามีจำนวนมากกว่าครึ่งที่จะเกิดการพลัดตกหกล้มซ้ำ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหักยังมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 29 ดังนั้น หากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธีอาจถึงแก่ชีวิตได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ซึ่งหากคำนึงถึงการดูแลสุขภาพพลานามัยเชิงป้องกันจะเห็นว่า “ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ” ทำให้ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยเห็นตรงกันว่า เราเต็มใจและตกลงในการร่วมเป็นพันธมิตรกับทางราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย (ร.พ.อ.ท.) และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย (ส.อ.ธ.ท.) ในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพด้วยความยินดียิ่ง ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ท่านมาเชิญชวนพวกเราชาวมหาดไทย ให้เข้าร่วมในการดำเนิน “โครงการต้นแบบการสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักและหักซ้ำบริเวณข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย 10 จังหวัดนำร่อง” ที่ทาง ร.พ.อ.ท. และ ส.อ.ธ.ท. ร่วมกับหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
“กระทรวงมหาดไทยจึงมีความยินดีอย่างยิ่งและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกของประชาชนทุกช่วงวัยผ่านโครงการต้นแบบ 10 จังหวัดนำร่องดังกล่าวร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย (ร.พ.อ.ท.) และสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย (ส.อ.ธ.ท.) ในฐานะที่เรามีกลไกในระดับพื้นที่ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ครอบคลุมทุกพื้นที่ตารางนิ้วของประเทศไทย สอดคล้องกับเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมกันกับองค์การสหประชาชาติพุ่งเป้าขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ซึ่งเรื่องการขับเคลื่อนด้านสุขภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 3 Good Health and Well-Being หรือการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย และกระทรวงมหาดไทยขอยืนยันว่า “เราจะไม่ทำเพียงแค่ 10 จังหวัดนำร่องเท่านั้น แต่จะต้องทำพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะช่วยดำเนินการสนับสนุน อาทิ การฝึกอบรมให้วิทยากร บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของทุกจังหวัดทั่วประเทศ และบุคลากรในสังกัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ปัจจุบันกว่าร้อยละ 70 ได้ถ่ายโอนมาอยู่ภายใต้สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว ได้มีทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ดูแลผู้สูงอายุและประชาชนไม่ให้ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยงประสบเหตุดังกล่าว เรื่องนี้ จึงเป็นภารกิจหน้าที่สำคัญที่เราจะขับเคลื่อนร่วมกัน และจะนำไปสู่การลงนาม “บันทึกความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพตามโครงการการพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านการดูแลติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักรวมถึงการหักซ้ำ” เพื่อให้เกิดต้นแบบระบบสารสนเทศที่สามารถใช้ในการดูแลและเฝ้าระวังผู้สูงอายุไทยซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพก นำมาซึ่งประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการในเชิงระบบร่วมกับ ร.พ.อ.ท. ด้วยการส่งเสริมทำให้คนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพ ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงโรคกระดูกที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อตั้งคณะทำงานในการจัดทำหนังสือคู่มือทางวิชาการ “Good Health and Well-Being” เพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพ ในรูปแบบคู่มือการปฏิบัติการดูแลรักษาสุขภาพลานามัยตั้งแต่เด็กเล็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เด็กปฐมวัย ตลอดจนถึง เด็กมัธยม ที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรักษาความสะอาดของร่างกาย การล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ การเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การนอนหลับให้เพียงพอ การรู้จักวัฒนธรรมความปลอดภัย มีอุปนิสัยที่ดีต่อการรักษาสุขภาพ ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกหลานของเรา โดยการกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมตามอายุของเด็กแต่ละช่วงวัย
“นับเป็นนิมิตรหมายอันดีในการเพิ่มพูนบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและภารกิจในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพพลานามัยเชิงรุกอย่างกว้างขวางและเป็นการทั่วไป ซึ่งครอบคลุมรวมทั้งผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม กระดูกหักหรือแตก ตลอดจนถึงเด็กเล็ก ตั้งแต่ “ก่อนครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวมหาดไทยทุกคน ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ อสม. รวมถึงพี่น้องทุกคนที่เป็นผู้นำในพื้นที่ ได้ช่วยกันหันมาดูแลสุขภาพพลานามัยตั้งแต่วันนี้ ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้กับคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนรู้จักการปฏิบัติตนให้มีอายุยืนยาว มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพกายและใจที่ดี อันจะไปสู่การที่ทุกคนในสังคมไทยมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อันจะหนุนเสริมทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1626/2567 วันที่ 21 ส.ค. 2567