เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 67 เวลา 16.00 น. ที่วัดวังทองวนาราม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชมพระอุโบสถเก่า ซี่งเป็นอุโบสถที่ได้รับการบูรณะตามโครงการบูรณะโบราณสถานวัดวังทองวนาราม โดยมี นายสุธน ศรีหิรัญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก นายอธิปไตย ไกรราช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการ นายหัฎฐะพล เมฆอาภา นายอำเภอวังทอง ร่วมลงพื้นที่ โดยได้รับเมตตาจาก พระครูวิมลธรรมรักขิต รองเจ้าคณะอำเภอวังทอง เจ้าอาวาสวัดวังทองวนาราม ร่วมให้การต้อนรับและนำชม
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบสักการะพระประธานประจำพระอุโบสถ และชื่นชมภายในอุโบสถที่ได้รับการปรับปรุงตามโครงการบูรณะโบราณสถานวัดวังทองวนาราม โดยกรมศิลปากร โดยเจ้าอาวาสวัดวังทองวนาราม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้ทำการถอดแบบงานประติมากรรมและจิตรกรรมบริเวณเสาอุโบสถ เพื่อจะทำการบูรณะปิดทองเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้อุโบสถหลังนี้มีความงดงามเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและอนุชนคนรุ่นหลังได้เข้ามา เยี่ยมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นโบราณวัตถุภายในบริเวณอุโบสถซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งนี้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า อุโบสถหลังนี้ มีอายุมากกว่า 200 ปี ศิลปกรรมแบบอยุธยาตอนปลายและสร้างด้วยศิลาแลง โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการบูรณะโบราณสถานวัดวังทองวนาราม ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 วงเงินงบประมาณ 2.85 ล้านบาท ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งเปลี่ยนไม้กลอนที่ชำรุด โดยโครงสร้างหลังคาใช้วิธีเข้าไม้เป็นเดือย ในส่วนของผนังอุโบสถ ได้ทำการบูรณะด้วยปูนฉาบ และใช้ซีเมนต์ในการปูพื้น พร้อมทั้งบูรณะช่อฟ้าใบระกาด้วยงานปูนปั้นซ่อมเสริมใหม่ทั้งหมด ในส่วนของฐานพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปพุทธลักษณะสุโขทัย ทำการซ่อมแซมโดยใช้ปูนซีเมนต์ดำ รูปแบบศิลปกรรมแบบเดิมทั้ง 4 ด้าน และใช้น้ำยากันปลวกทาไม้สักเพื่อรักษาสภาพไม้ทั้งหมด
“นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมความสำเร็จของการบูรณะโบราณสถาน วัดวังทองวนาราม ซึ่งตนได้มีโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมการบูรณะปรับปรุงในหลายโอกาส โดยการมาเยี่ยมชมในวันนี้ ทำให้ได้เห็นถึงความงดงาม และทำให้เราได้ย้อนนึกถึงในอดีต ที่อุโบสถแห่งนี้ ได้ถูกใช้เป็นศาสนสถานที่สำคัญของบรรพบุรุษชาวเมืองพิษณุโลก ซึ่งต้องขออนุโมทนากับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และขอขอบคุณกลุ่มศิลปากร ที่ได้เป็นกำลังหลักในการบูรณปฏิสังขรณ์ ให้มีความงดงาม และถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ทำให้อุโบสถเก่าวัดวังทองวนารามแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งการรำลึกนึกถึงความงดงามด้านศิลปกรรมของไทยตั้งแต่อดีต ซึ่งมีพระเดชพระคุณพระครูวิมลธรรมรักขิต เจ้าอาวาสวัดวังทองวราราม และรองเจ้าคณะอำเภอวังทอง เป็นพระสงฆ์หลักชัยผู้นำทางศาสนาให้กับพี่น้องประชาชน ในการร่วมกันดูแลอนุรักษ์โบราณสถานของชาววังทอง ให้คงความมีเสน่ห์ของความงดงามทางศิลปกรรมคงอยู่อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน อันเป็นรากฐานที่สำคัญอันทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เกื้อหนุนเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้มีความสำนึกรักบ้านเกิด และความหวงแหนต่อศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ท่านนายอำเภอวังทอง ได้เป็นผู้นำบูรณาการร่วมกับนายกเทศมนตรีตำบลวังทอง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ และปราชญ์ชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ในการส่งเสริมให้นักเรียน ซึ่งเป็นลูกหลานของชาววังทอง ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ และฝึกฝนทักษะในการเป็นมัคคุเทศก์น้อย เป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานวัดวังทอง ตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาววังทอง ซึ่งจะช่วยขนุนเสริมทั้งด้านการศึกษา รวมทั้งเศรษฐกิจฐานรากของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตลาดวังทอง “ตลาด120 ปี วิถีชาววัง” เพราะเราจะได้ทำให้ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นความงดงามในอดีต ได้รับการหล่อหลอมและถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานให้มีความภาคภูมิใจ และมีความรักในบ้านเกิด อันจะทำให้พวกเขามีความผูกพัน และรวมพลังกันในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดความร่วมสมัย ต่อยอดประวัติศาสตร์จนก่อเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป
พระครูวิมลธรรมรักขิต กล่าวว่า วัดวังทองวราราม เดิมมีพื้นที่ตั้งวัด จำนวน 46 ไร่ 2 งาน 46 ตารางวา ต่อมาที่ดินของวัดที่ติดกับชาวบ้านยังเป็นป่ารกร้าง ชาวบ้านมาขอถากถางทำประโยชน์ตั้งที่อยู่อาศัยติดต่อกันหลายปีเลยยึดครองกรรมสิทธิ์โดยปริยาย ที่ตั้งวัดในปัจจุบันยังคงเหลือ 23 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา มีอาณาเขตติตต่อดังนี้ ทิศเหนือติดตลาดวังทอง ทิศใต้ติดหมู่บ้านวังทอง ทิศตะวันออกติดแม่น้ำวังทอง ทิศตะวันตกติดหมู่บ้านวังทอง โดยประวัติของวัดนั้น ไม่สามารถทราบประวัติการสร้างวัดที่แน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างวัดเป็นครั้งแรก ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านและจากหลักฐานต่าง ๆ ก็พอสรุปได้ว่าวัดวังทองวรารามสร้างมานานประมาณ 200 กว่าปี สันนิษฐานจากอุโบสถหลังเก่าที่สร้างตามศิลปกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย และสร้างด้วยศิลาแลง อันตรงกับหลักฐานในสมัยดังกล่าวที่สามารถยืนยันได้ว่าสร้างมานาน และต่อมา ประชาชนได้เรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดราชสิงห์ขรณ์” มีอาณาเขตติดกับแม่น้ำวังทอง ซึ่งเป็นสายน้ำที่ทำให้เมืองวังทองเป็นเมืองท่าติตต่อการค้าขายระหว่างอำเภอนครไทย ด่านซ้าย เลย หล่มสัก เป็นเมืองหน้าด่านการค้าทางเรือของเมืงพิษณุโลกในสมัยนั้น กระทั่งต่อมานายแหนง อินทร์ตลาดชุม นายพิน คัชมาตย์ ขุนวังเงิน ขุนวิเทศน์ หมอประดิษฐ์ นายดี และนางแพ ได้บริจาคที่ดินและบูรณะวัด ได้ขนานนามวัดนี้ว่า “วัดอินทร์ตลาดชุม” กาลต่อมาคำว่า “อินทร์” จึงจางหายไป ก็คงเหลือชื่อวัดว่า “วัดตลาดชุม” แต่ชาวบัานมักเรียกว่า “วัดวังทอง” เพราะความเคยชิน และเมื่อเวลาล่วงเลยมา ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจาก “อำเภอนครป่าหมาก” เป็น “อำเภอวังทอง” เมื่อ พ.ศ. 2482 วัดตลาดชุม จึงได้เปลี่ยนตามชื่ออำเภอว่า “วัดวังทอง” และต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2475 และในปี พ.ศ. 2512 เจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดในขณะนั้นดำเนินการขอเพิ่มสร้อยท้ายชื่อวัดต่อกรมการศาสนาว่า “วัดวังทองวราราม” ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินตัดหวายนิมิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดิษฐานไว้หน้าบันอุโบสถ
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1636/2567 วันที่ 22 ส.ค. 2567