วันนี้ (26 ส.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายศักดาวุธ ศักดิเศรษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายอัธยา นวลอุทัย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองกลาง พร้อมด้วย ดร.ก่อเกียรติ แก้วกิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง และข้าราชการผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 139 คน ตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน และนายช่างไฟฟ้าสื่อสาร สังกัดศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานจังหวัด ทั่วประเทศ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า น้อง ๆ ข้าราชการผู้เข้ารับการฝึกอบรมในวันนี้ ทุกท่านเป็นความหวังของกระทรวงมหาดไทยที่จะช่วยขับเคลื่อนภาระงานที่กำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ประการที่ 1 ประเทศชาติของเรามีจุดมุ่งหมายในการที่จะเป็นรัฐบาลดิจิทัล ดังนั้นคนของภาครัฐทุกกระทรวง ไม่เฉพาะแค่กระทรวงมหาดไทย ต้องสนองนโยบายและทำให้องค์กรของพวกเราเป็นไปตามแนวทางการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ประการที่ 2 เราต้องเชื่อมั่นว่า เรื่องใหญ่อยู่ที่ “คน” ไม่ใช่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งพวกเราอาจจะเข้าใจผิดว่าเป้าหมายการเป็นรัฐบาลดิจิทัล คือการที่มีระบบ วิธีการ ในการปฏิบัติราชการโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่ทางด้านสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์ แต่แท้จริงแล้วชีวิตของพวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถ มาพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อ “ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข” ด้วยการทำให้ระบบราชการตอบสนองทั้งปัญหาและโอกาสของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราซึ่งเป็นคนมหาดไทยนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีหน้าที่ต้องควบคุมติดตามการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและสนับสนุนบทบาทของนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงกำกับติดตามการบริการสาธารณะของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะราชการบริหารส่วนกลางที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนภารกิจข้าราชการมหาดไทยในพื้นที่และส่วนราชการทุกกระทรวงในพื้นที่ให้สามารถผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชนได้
“เพราะพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่คือคนที่รอคอยให้พวกเราชาวมหาดไทยไปช่วยแก้ปัญหา ทั้งเรื่องยาเสพติด ความยากจน น้ำท่วม น้ำแล้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาส่วนรวม เพราะในเชิงระบบ เราจะพบว่าปัญหาส่วนตัวมักจะทวีความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาสังคม เช่น ในบ้านมีลูกหลานเสพยาเสพติดแต่กลับไปทำร้ายคนในชุมชน หรือครอบครัวประสบปัญหาความยากจน ไม่มีจะกิน แล้วไปปล้น ไปจี้ ไปฆ่า เพียงเพื่อจะชิงเงินหรือทรัพย์สินไปหาซื้ออาหาร อันเป็นหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์” ขณะเดียวกันคนมหาดไทยก็มีอีกหน้าที่หนึ่งที่มุ่งเน้นในการเพิ่มโอกาสให้กับพี่น้องประชาชนได้มีสิ่งที่ดีของชีวิตเพิ่มมากขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หรือเรียกว่า “การบำรุงสุข” ซึ่งแน่นอนว่าแม้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือแม้แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะมอบนโยบายหรือมอบแนวทางให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำของพื้นที่ แต่เราต้องตระหนักเสมอว่า “ผู้นำเหล่านี้จะทำงานได้ดีต้องมีพวกเรา” เพราะพวกเรา คือ Staff ของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องมี “ใจ” ที่อยากช่วยเหลือผู้บังคับบัญชา เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยต้องคิดว่า แม้ตำแหน่งจะเล็ก แต่คนตัวเล็กจะทำให้คนตัวใหญ่ประสบความสำเร็จ เหมือนลมใต้ปีกของนก ที่เรามองไม่เห็น แต่ถ้าไม่มีลมใต้ปีก นกก็บินไม่ได้ เช่นเดียวกัน ชีวิตคนที่เป็นผู้บังคับบัญชาต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีในการบริหารงานให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่เราอยากทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ดังนั้น “คนจึงสำคัญที่สุด” พวกเราคือคนที่จะทำให้เป้าหมายของคนมหาดไทยและข้าราชการทุกกระทรวง คือ “ประชาชน” ได้มีความสุข ด้วยการทำหน้าที่อำนวยประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชนดังอุดมการณ์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นักวิชาการคอมพิวเตอร์ และนายช่างไฟฟ้าสื่อสาร ต้องช่วยกันคิดเอาความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ในตัว ซึ่งถือเป็น “ความรู้ความสามารถพิเศษ” ของคนมหาดไทย เฉกเช่น “ดร.ก้อ” ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง กรมการปกครอง ที่ท่านมีความรู้ความสามารถในเรื่องสารสนเทศเช่นเดียวกับที่พวกเรามีอยู่ ให้เกิดเป็นประโยชน์ที่เกื้อกูลการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคนมหาดไทยทุกคน ผ่านระบบ ThaiQM ที่ใช้ในการสำรวจครัวเรือนยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนในทุกเรื่อง จนทำให้เรามี BIG DATA ขนาดใหญ่หนุนเสริมระบบ TPMAP ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือแนวคิด (Concept) ของท่านพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้มอบหมายให้นักวิชาการคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตอบโจทย์การบริหารราชการถึง 3 ด้าน คือ 1) ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด (Surin DRUGs GIS) 2) ระบบการรับบริจาคโลหิต (Surin Blood Bank) และ 3) ระบบตลาดของดีเมืองสุรินทร์ (Surin Best) อันเป็นตัวอย่างสะท้อนถึงความสามารถหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialist) ที่พวกเรา ผู้เป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ และนายช่างไฟฟ้าสื่อสาร ต้องทำให้คนทุกคนได้เห็นว่างานของเราสำคัญ เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการ “ยกระดับองค์ความรู้” ของพวกเรา ด้วยการ “คิดใหญ่” ทำให้ความรู้ของเรา ทำให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจนำความคิดของเราไปขยายงานให้เหนือกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเราไม่ใช่ Nobody แต่เราคือนักพัฒนาระบบสารสนเทศที่จะหนุนเสริมการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ที่สอดคล้องทั้งสภาพปัญหาในพื้นที่ ภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป และเราจะทำเพียงคนเดียว ไม่ได้ แต่เราต้องมีเพื่อน มีพรรคพวกทุก ๆ ส่วนราชการในจังหวัด ด้วยการหลอมรวมพลังของนักวิชาการคอมพิวเตอร์ นายช่างไฟฟ้าสื่อสาร และเพื่อนข้าราชการที่ทำงานในลักษณะเดียวกันเป็น “ทีม IT จังหวัด” ควบคู่การเป็น “ทีมสารสนเทศกระทรวงมหาดไทย” ที่สามารถหารือ สะท้อนปัญหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดมสมอง เสนอแนะ จนสามารถประมวลหาทางออกในการแก้ปัญหาและต่อยอดพัฒนางานเพิ่มขึ้นได้ เพื่อที่จะส่งผลให้ “ประการที่ 4” คือ เราต้องแสดงออกอย่างชัดเจนในการพูดคุย เสนอแนะ ต่อผู้บังคับบัญชา นอกเหนือจากข้อ 3 ที่เราแค่พูดคุยกันเอง เพื่อให้สิ่งที่เราคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม “เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้ใต้บังคับบัญชา คือ การที่สามารถทำให้ผู้บังคับบัญชาทำตามที่เราอยากให้ทำ” เช่น การนำเสนอ “ระบบสารสนเทศเพื่อการบริการจัดการงานของจังหวัดเพื่อประชาชน” ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณา โดยนำเอา Best Practice ของจังหวัดสุรินทร์ หรือกรมการปกครอง มาเป็นแนวทางในการต่อยอดได้ เพราะ “เทคโนโลยีสารสนเทศคือเครื่องจักร” มันสำคัญสู้คนไม่ได้ แต่คนสำคัญที่จะทำให้ระบบสารสนเทศหรือเทคโนโลยีเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ “พวกเราทุกคน” ที่ต้องช่วยกันตักตวงเอาความรู้ ช่วยกันทำให้ประชาคมของชาวสารสนเทศ คือ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นายช่างไฟฟ้าสื่อสาร รวมกลุ่ม รวมตัว เป็นเวทีของการ Change for Good คิดสร้างสรรค์ในการทำสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติและประชาชนเพิ่มมากขึ้น และช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด เช่น การป้องกันภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งเว็บหมิ่นสถาบันหลักของชาติ เว็บพนันออนไลน์ เว็บแหล่งมั่วสุมอบายมุข ที่เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งเซาะกร่อนบ่อนทำลายชาติ ให้มันหมดไปจากสังคม ด้วยการตั้ง “ประชาคมนักวิชาการคอมพิวเตอร์จังหวัด อำเภอ” ซึ่งจะเป็นคุณูปการในการสนองพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำให้บ้านเมืองมีความผาสุก
“นักวิชาการคอมพิวเตอร์ และนายช่างไฟฟ้าสื่อสาร จึงต้องมีมนุษยสัมพันธ์ กล้าที่จะไปพูดคุยกับผู้บังคับบัญชา ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนงาน เพราะหน้าที่ของพวกเราจะช่วยทุกส่วนราชการ เพื่อให้เป้าหมายของคนมหาดไทยและข้าราชการทุกคน คือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประสบความสำเร็จ ทำให้ความศรัทธาของสังคมที่ยกย่องว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด คือ นายกรัฐมนตรีของจังหวัด นายอำเภอ คือ นายกรัฐมนตรีของอำเภอ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการรับราชการเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน ด้วยทีมงาน ที่จะเป็นลมใต้ปีก เป็นนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เราต้อง “คิดอยู่เสมอว่าเราคือคนสำคัญ เราคือ Success Person เราคือ Key Success” ซึ่งแน่นอนว่าการเป็น Staff อาจไม่ได้หน้าได้ตาในสังคม แต่จะได้ความสุขที่เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บังคับบัญชาได้นำสิ่งที่เราคิด ที่เราเสนอ ไปทำให้ประชาชนมีความสุข ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การจัดตั้ง “โครงการจิตอาสาพระราชทาน เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้น้อมนำพระราชปณิธานดังกล่าว ประพันธ์บทเพลง “ความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้มุ่งมั่นตั้งใจในการเป็น “บอสใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ สารสนเทศจังหวัด” เป็นลมใต้ปีกของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในการทำให้เกิดสิ่งที่ดีในสังคม ทำให้งานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประสบความสำเร็จ ด้วยการตั้งใจอบรม พูดคุยแลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ความคิด ที่แน่นอนว่าบางความผิดอาจถูกมองว่าทำไม่ได้ แต่หากสิ่งที่เราทำนั้นเป็นความดี ขอให้เรามั่นใจในความดีว่าอยู่เหนือสิ่งอื่นใด เหนือกว่าตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ด้วยการพัฒนาใจให้เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ ไม่รอรับคำสั่งอย่างเดียว ควบคู่การมีมนุษยสัมพันธ์ ให้ความสำคัญกับการทำงานกับภาคีเครือข่ายและผู้คน รวมทั้งพัฒนาเพิ่มพูนความรู้และนำไปเกื้อกูลกับการที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ด้วยการขวนขวายความรู้เพื่อความก้าวหน้าในสายงาน จะได้มีอำนาจ มีผู้ใต้บังคับบัญชาในการนำสิ่งที่ดีไปใช้รับใช้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น “ท่าน ดร.ดิเรก ถึงฝั่ง” ผู้เริ่มต้นชีวิตราชการในตำแหน่งนายช่างไฟฟ้าสื่อสาร และพัฒนาตนเองกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการตอกย้ำว่า ถ้าเราไม่ลืมเป้าหมายหรืออุดมการณ์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน เราก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีเยี่ยมเหมือนท่าน ดร.ดิเรก ถึงฝั่ง เพราะเราผ่านประสบการณ์ของการทำหน้าที่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่สามารถขยายผลและดึงเอาจุดแข็งความคิดดี ๆ ของพวกเรา เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ “ประชาชนของพวกเราทุกคน”
นายศักดาวุธ ศักดิเศรษฐ์ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มุ่งพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2567 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และวิทยาลัยมหาดไทย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1659/2567 วันที่ 26 ส.ค. 2567