วันนี้ (26 ส.ค.67) นายชัยณรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดน่าน สำนักงาน ปภ. จังหวัดน่าน ตนได้เป็นประธานในการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดน่าน หารือกับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรภาคีเครือข่ายจิตอาสา เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขฟื้นฟู เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยล่าสุด ได้สั่งการให้ผู้นำชุมชนเร่งสำรวจความเสียหายในทุกครัวเรือนเพื่อแจ้งให้แก่ส่วนราชการเข้าให้การช่วยเหลือเยียวยา พร้อมจัดชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเข้าแจกถุงยังชีพให้ทุกครัวเรือน และสนับสนุนการทำความสะอาด (Big Cleaning) ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด
นายชัยณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ล่าสุด สถานการณ์เริ่มคลี่คลายระดับน้ำลดลงเข้าสู่สภาวะปกติในบางส่วนแล้ว โดยทางศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดน่าน ได้สรุปภาพรวมความเสียหาย พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จำนวน 12 อำเภอ 67 ตำบล 443 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,400 กว่าครัวเรือน 56,000 กว่าราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นประชาชนชาวอำเภอทุ่งช้าง 1 ราย ท่าวังผา 2 ราย และ 1 รายในจำนวนนั้นเป็นพลเมืองดีไปช่วยผู้ประสบภัยและเสียชีวิต พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 10 อำเภอ 62 ตำบล 347 หมู่บ้าน มีเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ 6,831 ราย รวมประมาณการความเสียหายด้านพืชผลทางการเกษตรเบื้องต้น 23,346.25 ไร่ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 41,904,744 บาท ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอโซนเหนือและโซนกลาง สถานการณ์ได้คลี่คลายระดับน้ำลดลงแล้ว ซึ่งจังหวัดน่านได้สั่งการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย รวมถึงเร่งทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ซ่อมแซมฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ และเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบ ในส่วนพื้นที่อำเภอโซนใต้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และทางส่วนราชการในพื้นที่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำในพื้นที่ท่วมขังซึ่งสถานการณ์น้ำกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในภาพรวมทั้งจังหวัด สถานการณ์น้ำท่วมใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
“โดยในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 องคมนตรีจะได้เดินทางมามอบของยังชีพช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ จำนวน 500 ชุด ที่ ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา ทั้งนี้ จังหวัดน่าน ได้รับความช่วยเหลือในด้านถุงยังชีพเพื่อนำไปแจกจ่ายมอบให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่วนต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมจำนวน 16,506 ชุด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าอยู่หัว พระราชทานถุงยังชีพ 3,000 ชุด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 5,000 ชุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดสรรถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 2,000 ชุด สำนักนายกรัฐมนตรี มอบถุงยังชีพ จำนวน 6,506 ชุด มากไปกว่านั้น ยังมีภาคีเครือข่ายที่ได้เข้าให้การช่วยเหลือด้านอาหาร กำลังการผลิตอาหารแจกจ่าย จำนวน 22,500 ชุดต่อวัน ซึ่งประกอบไปด้วย โรงครัวมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก จำนวน 3 จุด กำลังการผลิต จำนวน 6,0000 ชุดต่อวัน รถประกอบอาหาร มทบ.38 จำนวน 3 คัน กำลังการผลิต จำนวน 4,500 ชุดต่อวัน มูลนิธิกู้ภัยเพชรเกษม จำนวน 2 คัน กำลังการผลิต จำนวน 9,000 ชุดต่อวัน มูลนิธิร่วมกตัญญู จำนวน 1 คัน กำลังการผลิต จำนวน 2,000 ชุดต่อวัน มูลนิธิสว่างรวมใจ กำลังการผลิต จำนวน 1,000 ชุดต่อวัน การประกอบเลี้ยงโดย อปท./ภาคเอกชน จำนวน 33 จุด ได้แก่ อำเภอเมืองน่าน จำนวน 7 จุด/อำเภอเวียงสา จำนวน 7 จุด/อำเภอภูเพียง จำนวน 12 แห่ง/อำเภอท่าวังผา จำนวน 7 จุด” ” นายชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
นายชัยณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของการช่วยเหลือด้านเครื่องจักรกลสาธารณภัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนอากาศยานปีกหมุนในการสำรวจพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบหมายศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดน่าน ประกอบด้วย รถบรรทุกพร้อมเรือยนต์เคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 ชุด/เรือท้องแบนกู้ภัย จำนวน 4 ลำ/รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย จำนวน 8 คัน รถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ ขนาด 12,000 ลิตร จำนวน 1 คัน รถสูบส่งน้ำระยะไกล 3 คัน รถยนต์ผลิตน้ำดื่ม 1 คัน มูลนิธิกู้ภัยเพชรเกษม มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิสว่างรวมใจ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยนำทรัพยากรเข้าช่วยเหลือประชาชน ดังนี้ รถยนต์เคลื่อนที่เร็ว รถบรรทุก เรือท้องแบนพร้อมเครื่อง รถยนต์ประกอบอาหาร อีกด้วย
“ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมโดยภาพรวมของจังหวัดน่านจะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ต้องขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนยังคงเฝ้าระวังกับฝนตกหนักที่จังหวัดน่านยังคงเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงต่อการเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันซ้ำรอยอีกครั้ง และต้องขอให้ทางนายอำเภอ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนทำความสะอาดพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และเร่งดำเนินการสำรวจบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้สรุปเป็นภาพรวมของการขอรับงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป” นายชัยณรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1660/2567 วันที่ 26 ส.ค. 2567