วันนี้ (10 ก.ย. 67) รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่สนับสนุน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง โดยมีนายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายสัญญา ศรีวิไลย นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รศ.ดร.อมร กฤษณพันธุ์ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ และคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วย นายคเชนทร์ชัย แพงจันทร์ พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางอมรรัตน์ กรึงไกร นายอำเภอเสนา นางสาวพิชญาภา ชัยสงคราม พัฒนาการอำเภอเสนา นักวิชาการพัฒนาชุมชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ นางตวงทอง โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีตำบลสามกอ นางอัญชนา มีชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิทยบริการ นายวรพงษ์ เหล็กเพ็ชร นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ นายวงศกร วังวล นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ และผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เสนอแนะข้อมูลการดำเนินงาน
รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จากการที่สถาบันการพัฒนาชุมชนได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุน ติดตาม และประเมินผล การดำเนินงานนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีหน้าที่ ติดตาม ถอดบทเรียน และประเมินผลความสำเร็จผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแผนพัฒนาตำบลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 18 ตำบล ที่ผ่านการคัดเลือก ระดับเขตตรวจราชการ
“ในวันนี้เป็นการติดตามโครงการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งตำบลสามกอได้มีการวางแผน โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงร่วมวางแผน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการแปลงผักลอยน้ำ แล้วจัดประชุมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงประชุมร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย พร้อมประชุมจัดทำแผนตำบลสามกอ/ขับเคลื่อนตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง/ขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมแปลงผักลอยน้ำ และมอบหมายภารกิจ โครงสร้างหน้าที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการผลความสำเร็จผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแผนพัฒนาตำบล ในพื้นที่ตำบลเข้มแข็งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม” รศ.วรวรรณฯ กล่าว
รศ.วรวรรณฯ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามและประเมินผลทีมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงตำบลสามกอ ได้มีการประยุกต์ใช้กลไก การขับเคลื่อน สืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ (กลไก 3 5 7) เป็นเครื่องมือในการนำ โครงการ/กิจกรรมตามแผนพัฒนาตำบลมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและขยายผลในพื้นที่เป็นอย่างดี ผ่านการร่วมพูดคุย ร่วมคิด โครงการ/กิจกรรม ในการขับเคลื่อนใน พื้นที่เพื่อเป็นตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ 5 กลไก ผ่านการประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานยุทธศาสตร์ การติดตามประเมินผลหนุนเสริม การจัดการความรู้ วิจัย พัฒนาบุคลากร และการสื่อสารสังคม และ 7 ภาคีเครือข่ายของตำบลสามกอ บรรจุในแผนพัฒนาหมู่บ้าน แผนพัฒนาตำบล และร่วมทำ เพื่อร่วมรับผลประโยชน์จึงนำไปสู่การขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการนวัตกรรมแปลงผักลอยน้ำ โดยเกิดความต่อเนื่องมาตลอดเวลาที่ผ่านมา
“สำหรับผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงตำบลสามกอ ที่ผ่านมาได้มีการริเริ่มจัดกิจกรรมตามแผนอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงไปยังกิจกรรม/โครงการอื่น ๆ โดยใช้ของจิตอาสาและกิจกรรม เช่น กิจกรรมทำความสะอาด ขุดลอกคูคลอง กิจกรรมศูนย์แบ่งปันความมั่นคงทางอาหาร กิจกรรมศูนย์แบ่งปันพืชผักสวนครัวคลังอาหารชุมชน กิจกรรมหน้าบ้านน่ามอง น่าอยู่ กิจกรรมคัดแยกขยะ ถังขยะเปียก และกิจกรรมแปลงผักลอยน้ำ (ครัวชุมชนลอยน้ำ) ซึ่งสามารถตอบโจทย์ ด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องการแก้จน และด้านความมั่นคง และหลังดำเนินการ ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีศูนย์เรียนรู้ในชุมชน จำนวน 26 ศูนย์เรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล บ้านสวนศรีวิชัยของคุณรุ่งราตรี ศรีวิชัย หมู่ที่ 7 ศูนย์แบ่งปันผักและเมล็ดพันธุ์ผักวัดหลวงพ่อวงศ์วิปัสสนา และศูนย์เรียนรู้แปลงผักลอยน้ำเทศบาลตำบลสามกอ เป็นต้น มากไปกว่านั้นชุมชนยังมีการจัดระบบนิเวศสีเขียวของชุมชนได้ ซึ่งแปลงผักลอยน้ำเป็นการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำลังโฟมที่ไม่ใช้แล้ว ตู้เย็น หรือ ภาชนะที่ชำรุด มาใช้ซ้ำ (Reused) เป็นภาชนะสำหรับปลูกผักลอยน้ำ ในตำบลมีธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) รูปแบบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชน มีการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยใช้หลักการของธนาคารมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาขาย และการปรับเปลี่ยนแนวความคิดให้ชุมชนกลับมามีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิสังคมของตนได้” รศ.วรวรรณฯ กล่าว
รศ.วรวรรณฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตำบลสามกอ ได้มีการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและพอเพียง รวมถึงวิถีกำรแบ่งปัน เกิดพื้นที่สีเขียว เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดเช็คอิน เป็นจุดการเรียนรู้แก่ผู้คนทั่วไป รวมถึงมีระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดตลาดจำหน่ายผักสวนครัวลอยน้ำ ยกระดับตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การท่องเที่ยวชุมชนสร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดกระจายรายได้ กระจายประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทั้งชุมชน เพื่อให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปอย่างยั่งยืน และมีกลุ่มอาชีพสตรีปลูกผัก “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” สู่การท่องเที่ยวชุมชน ONE DAY TRIP วันเดียวเที่ยวสามกอ ธนาคารขยะรีไซเคิล ธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักลอยน้ำ ศูนย์จำหน่ายผักสวนครัว หรือ ไม้ผล และเกิดเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
“ซึ่งจากการดำเนินงานของผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ “สามกอ” อยุธยา พลังผู้นำสู่ “ชุมชนดีเลิศ” เป็นชุมชนระดับตำบล จากอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ผ่านมา ส่งผลให้ตำบลสามกอ คว้าตำแหน่ง “รางวัลชนะเลิศ” จากกิจกรรมการประกวดองค์ความรู้และทักษะในงานพัฒนาชุมชน (CD KM AWARD) ประเภท CD Talk เรื่อง “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง” และ “รางวัลชมเชย” จากกิจกรรมการคัดเลือกผลความสำเร็จผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแผนพัฒนาตำบล ในพื้นที่ตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งต้องขอให้ ทางตำบลสามกอและอำเภอเสนา ได้ สืบสาน รักษา และต่อยอดการพัฒนา การทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะได้ร่วมกัน Change for Good สร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคมไทยต่อไป” รศ.วรวรรณฯ กล่าวทิ้งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1758/2567 วันที่ 10 ก.ย. 2567