เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 67 ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เล่ม 44 จำนวน 76 เล่ม ให้กับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 76 แห่งเพื่อใช้ในการศึกษา โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ารับมอบ และหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพระราชดำริ พระราชดำรัส ความเป็นมา ตลอดจนคุณค่าของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 44 จำนวน 9,287 เล่ม เพื่อมอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เชิญไปมอบให้กับสถานศึกษาในพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการศึกษา ซึ่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ทุกจังหวัดได้ร่วมพิธีรับมอบหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ณ ห้องจูปิเตอร์ 12 อาคารชาเลนเจอร์ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีรับมอบหนังสือฯ
ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ที่แตกต่างกันตามหมวดสาขาวิชาต่าง ๆ ให้นักวิชาการ ผู้รู้ ช่วยกันเรียบเรียงในภาษาที่ง่าย เผยแพร่ไปสู่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ในทุกจังหวัด ทำให้ทั้งผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เด็ก และเยาวชน ได้มีโอกาสในการที่จะแสวงหาองค์ความรู้ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการที่จะทำให้เด็กสามารถเติบใหญ่ และทำให้ผู้ใหญ่สามารถแนะนำลูกหลาน ให้มีความรู้และความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และที่สำคัญที่สุด ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำสารานุกรมในรูปแบบ E-Book ด้วย อันจะยิ่งทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ในสารานุกรมสามารถแพร่กระจายไปสู่ประชาชนทุกวัยได้โดยง่าย
ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนังสือชุดสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์จะให้มีหนังสือที่รวบรวมความรู้แขนงต่าง ๆ เพื่อให้พสกนิกรได้มีโอกาสอ่านและศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินการในปี พุทธศักราช 2511 โดย พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ รับสนองพระราชประสงค์เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยได้รับพระราชทานเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นทุนในการจัดทำและได้ดำเนินงานมาจนถึง พุทธศักราช 2562 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เปลี่ยนสถานะเป็นมูลนิธิ โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เงินและทรัพย์สินของโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เป็นทุนเริ่มแรก ในการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ โดยให้ใช้ที่ทำการของโครงการฯ ที่สนามเสือป่า สำนักพระราชวัง เป็นสำนักงานของมูลนิธิ ต่อไป ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ที่ปรึกษา และมีนายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ
ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า “หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 44 ฉบับพระราชทาน” เล่มนี้ มีสาระที่น่าสนใจรวม 8 เรื่อง ได้แก่ 1. ลิเกป่า (แขกแดง) มีเนื้อหาว่าเป็นการอธิบายถึงการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิมในชนบทภาคใต้ที่เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากชาวอาหรับ หรือ “แขกเจ้าเซ็น” และเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน 2. กลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีเนื้อหาว่าม้งเป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาคเหนือของเมียนมา ลาว เวียดนาม และไทย ที่มีอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เชื่อมต่อกันทำให้มีวัฒนธรรมประเพณีบรรทัดฐานภาษาและความเชื่อในแนวเดียวกัน 3. วิทยาศาสตร์การกีฬา มีเนื้อหาว่า เป็นการอธิบายถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์โดยนำหลักวิชาการต่าง ๆ เช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาและการออกกำลังกาย การแพทย์ โภชนาการ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นต้น นำมาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย การฝึกซ้อมกีฬา และแข่งขันกีฬา ตลอดจนการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างเป็นขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ 4. โลมาสีชมพู มีเนื้อหาว่า เป็นโลมาที่อาศัยอยู่ในทะเลตามแนวชายฝั่ง พบบ่อยที่ชายทะเลภาคใต้ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโลมาชนิดนี้ตอนอายุน้อยจะมีสีเทาเหมือนโลมาทั่วไป แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมชมพูเกือบตลอดทั้งตัวซึ่งสามารถเป็นเครื่องชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยได้เป็นอย่างดี 5. แมลงทับ มีเนื้อหาว่า เป็นแมลงประเภทด้วงตัวโต มีปีกสีเขียวมรกตเหลือบทองแดงเป็นประกายแวววาวซึ่งในประเทศไทยแมลงทับ ได้รับการจัดแบ่งเป็นสองชนิดที่สามารถพบได้ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ สี หนวด ขา คือ แมลงทับขาแดง พบมากในบริเวณป่าเต็งรังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนแมลงทับขาเขียว พบอยู่ทั่วประเทศและพบมากในภาคกลาง 6. ทราย มีเนื้อหาว่า เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไป เป็นสสารแบบเม็ด เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากหินที่ถูกย่อยเป็นเม็ดละเอียด และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ คือ ประเพณีการขนทรายเข้าวัดและการก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ ถือเป็นการทำบุญโดยที่วัดจะนำทรายเหล่านี้มาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมถาวรวัตถุต่าง ๆ 7. คณิตศาสตร์ในธรรมชาติ มีเนื้อหาว่า ทุกสิ่งรอบตัวเราและทุกเรื่องราวล้วนเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์รวมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ ในธรรมชาติ เช่น พืช ต้นไม้ สัตว์ สิ่งของ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติที่อยู่ในท้องฟ้า ในทะเล แม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์และสร้างแบบจำลอง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ และ 8. โรคมือเท้าปาก มีเนื้อหาอธิบายว่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพบบ่อยในเด็กเล็กซึ่งการติดต่อค่อนข้างง่ายผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่งเช่นน้ำลาย หรือ อุจจาระของผู้ป่วย หรือ ของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อโรค การระบาดมักเกิดเฉพาะฤดูฝน หรือ ช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้นมากเกินไป โดยศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เป็นองค์กรสำคัญที่มักจะได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ดังนั้น เราควรศึกษาให้ความสำคัญและเพื่อส่งต่อความรู้จักกับโรคเหล่านี้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาของโรคและดูแลไม่ให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1788/2567 วันที่ 13 ก.ย. 2567