เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567 นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ ตนเป็นประธานในถวายรูปหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ พร้อมทั้งถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ณ วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ วัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ นายอำเภอตาคลี หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโพ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ตามที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล นั้น ในวันนี้จึงถือเป็นฤกษ์อันมงคลยิ่งที่วัดหนองโพธิ จังหวัดนครสวรรค์ จะได้ประกอบพิธีถวายรูปหล่อเหมือน ขนาด 29 นิ้ว ของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร พระเถระผู้ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวนครสวรรค์ และได้รับการขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” ซึ่งจะนำไปประดิษฐานไว้ที่ในมณฑปฌาปนสถานหลวงพ่อเดิม พร้อมจัดทำป้ายบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ ได้เข้ามากราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จต่อไป
นายทวีฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ภายหลังจากการประกอบพิธีถวายรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อเดิมในวันนี้แล้ว ตนยังได้นำผู้เข้าร่วมพิธีทำบุญถวายภัตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของวิถีชีวิตชาวจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติที่งดงามและทรงคุณค่า เนื่องจากวัดหนองโพเป็นวัดเก่าแก่ที่ดำรงอยู่คู่กับจังหวัดนครสวรรค์ มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาอย่างยาวนาน และเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนมาโดยตลอด การประกอบพิธีถวายรูปหล่อหลวงพ่อเดิมและถวายเพลในวันนี้จึงถือเป็นฤกษ์ดีที่พี่น้องประชาชนทุกคน จะได้มาร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับสังคมไทย มาร่วมทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ และอิ่มบุญด้วยใจชื่นมื่นอย่างคับคั่ง อันจะสามารถหลอมรวมความร่วมมือร่วมใจของประชาชน จากการมีที่พึ่งทางจิตใจผ่านการเคารพและสักการะกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อเดิมให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและหมู่บ้านให้ยั่งยืนได้อีกด้วย
“สำหรับวัดหนองโพ เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยในราวสมัยกรุงธนบุรี หลวงพ่อรอดได้นำชาวบ้านเขาทอง 7 ครัวเรือนอพยพมาตั้งรกรากที่บริเวณวัดหนองโพที่ถูกทิ้งร้าง มีต้นโพธิ์ใหญ่ 7 กิ่งสาขาให้อาศัยร่มเงา มีหนองน้ำ มีโบสถ์ร้าง ชาวบ้านหนองโพหักร้างถางพงบูรณะพัทธสีมาเดิม อาราธนาหลวงพ่อรอดขึ้นเป็นสมภารเจ้าวัด เป็นปฐมเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าอาวาสถัดมา ได้แก่ หลวงพ่อสิน หลวงพ่อจันทร์ หลวงตาชม พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) หลวงพ่อสมุห์ชุ่ม ขนฺธสโร พระครูนิพนธรรมคุด (น้อย เตชปุญโญ) พระครูนิวาสธรรมโกวิท (ประเทือง อินฺทวีโร) โดยแต่เดิมวัดหนองโพแต่แรกชื่อ “วัดสมโภชน์โพธิ์กระจาย” ทั้งนี้ ในสมัยพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร เป็นเจ้าอาวาส ในช่วงปี 2435 – 2494 วัดหนองโพมีความเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงขจรขจายด้วยบารมีของหลวงพ่อเดิมสืบต่อมาจนปัจจุบัน” นายทวี กล่าว
“ปัจจุบัน วัดหนองโพมีพระครูนิปุณพัฒนพงศ์ เจ้าคณะตำบลหนองโพ เขต 1 เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ และได้นำแนวทางของอดีตเจ้าอาวาสทุกรูป มาดำเนินการพัฒนาวัดเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง และเป็นวัดที่ได้นำแนวทางของมหาเถรสมาคมตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย อันเป็นการส่งเสริมทำให้วัดซึ่งเป็นศาสนสถาน ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและประชาชน เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน รวมทั้งเป็นสถานที่ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนการนำศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่นของชุมชนมาดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ในรูปแบบของพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการดึงความร่วมมือประชาชนและส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมในงานสำคัญทางพระพุทธศาสนา และยังเป็นการน้อมนำแนวความคิดของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร ผู้ที่ริเริ่มนำการพัฒนาในทุกด้านมาสู่ตำบลหนองโพแห่งนี้ ถ่ายทอดส่งต่อมาสู่คนรุ่นหลังในการน้อมนำและสานต่อถึงปัจจุบัน” นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1789/2567 วันที่ 13 ก.ย. 2567