วันนี้ (21 ก.ย. 2567) นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนม ได้รับมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ประสบปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่อำเภอนาทม และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมี นายธีรเดช โปสพันธุ์ นายอำเภอนาทม พร้อมด้วย สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาทม ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครพนม สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีสงคราม ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์มหาสารคาม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอนาทม และอำเภอศรีสงคราม เข้าร่วมดำเนินการรับมอบในครั้งนี้
นายวันชัย กล่าวว่า ตามที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดนครพนม ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรรม ตนจึงได้มอบหมายให้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์จังหวัดนครพนม รับมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น
“สำหรับการมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานในครั้งนี้ ประกอบด้วย ในเขตพื้นที่อำเภอนาทม ได้ทำการมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานจำนวน 1,000 กก. ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการรับความช่วยเหลือ จำนวน 10 ราย ซึ่งเลี้ยงโค-กระบือ รวมจำนวน 106 ตัว ที่บ้านท่าพันโฮง หมู่ที่ 9 ตำบลนาทม และมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวน 2,000 กก. ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ จำนวน 28 ราย ซึ่งเลี้ยงโค-กระบือ จำนวน 298 ตัว และทำการมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ให้เกษตรกรบ้านท่าพันโฮง หมู่ที่ 14 ตำบลนาทมจำนวน 3,000 กก. เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 7 ราย มีโค-บือ จำนวน 143 ตัว และในพื้นที่อำเภอศรีสงคราม มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย บ้านท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จำนวน 4,000 กก. มีเกษตรกรมาขอรับหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวน 25 ราย อพยพสุกร จำนวน 16 ตัว ฟื้นฟูสุขภาพสัตว์โดยฉีดยาถ่ายพยาธิ-ยาบำรุง จำนวน 12 ตัว รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย จำนวน 3 ตัว โดยได้นำหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานบรรทุกเรือขนาดใหญ่ ลำเลียงไปยังเกาะต่างๆ ที่เกษตรกรอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง” นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติม
นายวันชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดนครพนม ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน อุทกภัย รวม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครพนม ท่าอุเทน นาหว้า บ้านแพง นาทม เรณูนคร และศรีสงคราม มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังประมาณ 250 หลัง โดยมีน้ำท่วมหนักที่สุดที่อำเภอศรีสงคราม ซึ่งแม้ไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำโขง แต่ลำน้ำสงคราม ไม่สามารถไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ เนื่องจากน้ำโขงหนุนสูง ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำของลำน้ำสงครามและลำน้ำอูน ซึ่งเป็นแอ่งกระทะถูกน้ำท่วมมานานหลายสัปดาห์แล้ว เฉพาะอำเภอศรีสงคราม คาดว่านาข้าวได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 51,000 ไร่ รองลงมาคือ อำเภอนาทม คาดว่านาข้าวเสียหายประมาณ 19,000 ไร่ แต่เมื่อรวมกับอำเภออื่น ๆ ที่ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยฯ คาดว่ามีนาข้าวเสียหายประมาณ 86,000 ไร่
“โดยล่าสุด ระดับน้ำโขงเริ่มลดลงต่อเนื่องต่อเนื่อง เป็นวันที่ 4 ซึ่งเช้าวันนี้ (21 ก.ย.67) ระดับน้ำอยู่ที่ระดับประมาณ 11.37 เมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้ 23 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤต 63 เซนติเมตรซึ่งระดับวิกฤตอยู่ที่ 12 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 1.63 เมตร (ระดับตลิ่ง 13 เมตร) และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่พายุ “ซูลิก”เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา วัดน้ำฝนสูงสุดที่อำเภอศรีสงคราม 80.0 มิลลิเมตร รองลงมาที่อำเภอบ้านแพง 79.0 มิลลิเมตร โดยในภาพรวมจากระดับน้ำโขงที่ได้ลดลงต่อเนื่องทำให้น้ำที่เคยเอ่อล้นท่วมร้านค้าที่อยู่ชั้นใต้ดินใกล้ลานพญาศรีสัตตนาคราชสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ขณะนี้น้ำได้ลดลงต่ำกว่าพื้นอาคารประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าและเทศบาลเมืองนครพนมเตรียมเข้าฉีดล้างทำความสะอาดภายในร้านค้าและบริเวณทางเท้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดร้านได้อีกครั้งหนึ่ง เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวงานประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม ในช่วงวันที่ 8-18 ตุลาคม 2567” นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติม
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดนครพนมขณะนี้หรือภาพรวมได้ทยอยเริ่มฟื้นกลับมาเข้าสู่สถานการณ์ปกติ และทางจังหวัดนครพนมจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายจิตอาสา เข้าพื้นที่เพื่อทำความสะอาด ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ พร้อมทั้งจะได้เตรียมมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งพี่น้องประชาชนผู้ที่ถูกน้ำท่วมในครัวเรือน และที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์ หากพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน สามารถแจ้งต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือโทรสายด่วนสาธารณภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อเจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1842/2567 วันที่ 21 ก.ย. 2567