วันนี้ (25 ก.ย. 67) เวลา 09.30 น. ที่ศาลารับเสด็จ บริเวณเกาะเสด็จ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ต.นอกเมือง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “ก้าวตามรอยพ่อ” เรื่องราวแห่งเกาะเสด็จประพาส โดยมี นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พ.อ.บุญส่ง พรหมนิล รองเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 25 พ.ต.อ.วรายุส์ จันทร์เยี่ยม รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ รศ.ดร.สำเนาว์ เสาวกูล รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นายพรชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ปู่แก้ว บุตรชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านช้าง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์ นักศึกษา และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และถวายธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บนศาลารับเสด็จ แล้วลงมายังที่นั่ง เพื่อร่วมรับชมการแสดง ชุด “เรือมอัปสรา” เป็นการร่ายรำท่วงท่าและการแต่งกายตามภาพจำหลักปราสาทศีขรภูมิ ซึ่งเป็นภาพจำหลักนางอัปสรถือดอกบัวที่มีความสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และเป็นการแสดงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ศาลารับเสด็จแห่งนี้ เพื่อเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎร ด้วยความรักและความห่วงใยพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ และเยี่ยมเยือนให้กำลังใจผู้ประกอบการ OTOP พร้อมเดินเยี่ยมชมบริเวณศาลารับเสด็จ และภูมิทัศน์โดยรอบ
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ตนเดินทางมาสถานที่อันเป็นมิ่งมงคลของพี่น้องประชาชนชาวสุรินทร์ คือ “ศาลาประทับ เกาะเสด็จ” แห่งนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ในคราวมาตรวจราชการและแวะเยี่ยมเยียนปูชนียบุคคลของชาติ คือ “ปู่แก้ว บุตรชาติ” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ได้เล็งเห็นคุณค่าของท่านและเชื้อเชิญท่าน ผู้เป็นข้าราชบริพารผู้สนองงาน ในการดูแลช้างสำคัญของชาติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่อายุ 23 ปี โดยช้างที่ปู่แก้วได้ดูแลนั้น คือ ช้างสำคัญคู่พระบารมีของพระองค์ท่าน คือ “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวมนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ์ประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า ๚” โดยองค์พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ล้มลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2553 ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล หัวหิน
“ในการมาเยี่ยมเยียนครั้งนั้น ปู่แก้วได้พามาชมสถานที่ที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ คือ เกาะเสด็จ จึงทำให้ได้ทราบว่าเป็นสถานที่ประทับของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมพี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2498 ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเรากำลังค้นหาสถานที่อันเนื่องด้วยการเสด็จพระราชดำเนิน รวมถึงสถานที่ที่เป็น Soft Power หนุนเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด อันเป็น Soft Power ที่เราไม่ต้องลงทุน เป็นแรงดึงดูดใจให้คนอยากมาท่องเที่ยว อยากมาทัศนศึกษา อยากมาถ่ายรูปเช็คอิน เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศ เราก็อยากไปถ่ายรูปเช็คอินกับสถานที่สำคัญ ซึ่งสถานที่เหล่านั้น นอกจากจะสวยงามแล้ว ล้วนมีเรื่องราว เป็นสถานที่ที่มาแล้วมีความสุข มาแล้วจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง แต่ในวันนั้น เมื่อตนรีบเดินทางเข้ามา ก็ได้พบกับความผิดหวัง เพราะพื้นไม้โย้เย้ผุพัง พื้นกระดานเป็นรู และรอบ ๆ บริเวณก็รกรุงรัง มีกิ่งไม้หัก หญ้ารก น้ำเน่าเสีย ไม่สะอาดสวยงาม ตนจึงได้โทรศัพท์ไปหารือกับท่านพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้พิจารณาดำเนินการร่วมกับท่านพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ให้แล้วเสร็จก่อนที่พวกเราทั้ง 3 คนจะเกษียณอายุราชการ ด้วยการทำสิ่งที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์แห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเมื่อตนวางสายท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้โทรศัพท์ไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทั้งสองท่านต่างยืนยันว่าจะร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมให้แล้วเสร็จก่อนจะเกษียณอายุราชการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มอบหมายให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งมอบหมายให้สถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม ร่วมกันเร่งสำรวจออกแบบ ปรับปรุง ในขณะที่จังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้รวมพลัง “จิตอาสาภาคประชาชน” นำสรรพกำลังอุปกรณ์เครื่องจักรกล ลงแรงกาย แรงใจ ด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเนื่องแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในปีมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา จึงขอให้พี่น้องชาวสุรินทร์ทุกภาคส่วนได้ภาคภูมิใจที่เราได้บูรณะสถานที่ที่เป็นสถานที่แห่งความรัก สถานที่แห่งความห่วงใยพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์ มีสภาพที่ดีงาม สำหรับให้ลูกหลานชาวจังหวัดสุรินทร์ และเด็กและเยาวชนคนไทยที่มาศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมถึงได้มีโอกาสเดินทางมาใช้ชีวิต มาท่องเที่ยวเยี่ยมจังหวัดสุรินทร์ ได้มีโอกาสรับรู้และซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อคนไทยทุกคน “วันนี้จึงเป็นวันเปิดศักราชของการแสดงความจงรักภักดีอย่างยั่งยืนของชาวสุรินทร์”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดูแลศาลาประทับ ณ เกาะเสด็จ แห่งนี้ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตนจึงขอฝากเพิ่มเติม 6 ประการ คือ 1) ขอให้ทางจังหวัดสุรินทร์ร่วมกับภาคีเครือข่าย และจิตอาสาภาคประชาชน ปลูกพืชคลุมดินจำพวกหญ้าแฝกตามแนวคันดินริมตลิ่ง และด้านบนตลิ่งให้ใช้พืชสวยงาม จำพวกพืชบนดิน ดอกไม้สีสันสวยงาม และพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไม้กินได้ จนถึงขอบถนน 2) น้อมนำทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้น้ำมีคุณภาพที่ดีอยู่เสมอ ด้วยการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ หรือที่เรารู้จักในชื่อ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” มาติดตั้งในหนองน้ำเพื่อให้กลายเป็น know How ให้คนที่มาเยี่ยมเยือนที่นี่ได้รู้ถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงคิดค้นและจดทะเบียนลิขสิทธิ์กังหันน้ำชัยพัฒนา รวมทั้งอาจปรับปรุงเพิ่มเติมด้วยการใช้โซล่าปั๊มสูบน้ำ ทำหน้าผาจำลองให้กลายเป็นน้ำตก และอาจจะทำฝ่ายแม้ว เพื่อให้น้ำตกไหลลงมาตามระดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ 3) ปรับปรุงบริเวณทางเดิน ด้วยการทำพื้นที่ให้มีลักษณะสโลป ให้ทางเดินมีระดับ แต่ต้องไม่ไปกระทบรบกวนความสวยงามของสถาปัตยกรรมศาลารับเสด็จ 4) ทำให้พื้นที่นี้ Man Made ด้วยการส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาที่เรียนด้านวิชาการเกษตร มาร่วมการแต่งสวน เพิ่มเติมพืชพันธุ์ต่าง ๆ ในโซนต้นไม้ที่ยังว่างอยู่ เพราะยังมีพื้นที่ว่างที่สามารถแต่งสวนได้ และสามารถน้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” รวมถึงพืชสมุนไพร จำพวกบอระเพ็ด มีการติดป้ายบอกสูตรอาหาร บอกสรรพคุณของต้นไม้ ตามหลักการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ควบคู่การทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ตอกย้ำให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของการคัดแยกขยะแบบละเอียด คือ แยกขยะตามประเภทต่าง ๆ และมีถังขยะเปียกลดโลกร้อน 5) ทำให้เป็นสถานที่ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สำหรับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป เพราะสถานที่แห่งนี้มีความร่มรื่น และ 6) นำไม้สวยงามที่ไม่ส่งผลต่อความเจริญเติบโตของต้นไม้ จำพวกกล้วยไม้ เฟิร์น ข้าหลวง มาเพิ่มเติมบริเวณต้นไม้ใหญ่
“ขอให้พวกเราช่วยกันดูแลศาลาประทับ เกาะเสด็จ แห่งนี้ ให้มีความสวยงาม มีความมั่นคงแข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมต้อนรับศรัทธามหาชนที่จะตามมา จากทั่วทุกสารทิศอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้มีการตั้ง “ชมรมมัคคุเทศก์” หรือ “ชมรมออกกำลังกาย” เพื่อที่จะให้นักศึกษาเหล่านี้ ได้ใช้เวลาว่างทำประโยชน์สร้างสิ่งที่ดีให้กับชีวิต ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอยากเห็น “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งกิจกรรมในวันนี้สอดคล้องกับพระราชปณิธานดังกล่าวที่พระองค์พระราชทานให้กับพวกเราชาวไทยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทั้งสิ้น และขอฝากให้ช่วยกันเป็นพลังของแผ่นดิน เป็นจิตอาสาภาคประชาชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยหัวใจภาคประชาชนคนสุรินทร์ อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้จังหวัดสุรินทร์แห่งนี้ เป็นจังหวัดที่หลอมรวมใจของพสกนิกรผู้จงรักภักดี ทำความ ดี ด้วยหัวใจ เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของประชาชนคนไทย และลูกหลานชาวสุรินทร์ตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
นายพิจิตร บุญทัน กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์ ขอขอบคุณท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 41 ที่ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่มาตรวจราชการ และดูแลติดตามการขับเคลื่อนงานเพื่อความสุขของพี่น้องประชาชนชาวสุรินทร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงท่านเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการบูรณะ ซ่อมแซมศาลารับเสด็จ แห่งนี้ และถึงแม้ว่าท่านกำลังจะเกษียณอายุราชการและมีภารกิจมากมาย ก็ยังสละเวลาเดินทางมาเยี่ยมจังหวัดสุรินทร์ และมาทำพิธีเปิดในวันนี้ ถือว่าจังหวัดสุรินทร์ได้รับความกรุณาจากท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยในทุกด้าน ทั้งการส่งเสริมให้บุคลากรของเราเจริญก้าวหน้า และอนาคตแม้ว่าท่านจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ท่านก็จะไม่ลืมจังหวัดสุรินทร์อย่างแน่นอน
นายพรชัย มุ่งเจริญพร กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นแม่กอง ร่วมกับอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณะศาลารับเสด็จแห่งนี้ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์เพื่อการเรียนรู้ เพื่อเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์อันสำคัญ ที่ยังคงเหลือไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ลูกหลานชาวสุรินทร์ อยู่คู่กับจังหวัดสุรินทร์อย่างยั่งยืน โดยระดมเงินจากทุกภาคส่วน ในการบูรณะศาลารับเสด็จ และบริเวณเกาะเสด็จประพาส โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากทางราชการแต่อย่างใด
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1870/2567 วันที่ 25 ก.ย. 2567