วันนี้ (27 ก.ย. 67) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้รับเกียรติจากคณะผู้จัดงาน SX2024 ให้ร่วมจัดบูธกิจกรรมภายในงาน Sustainability Expo 2024 หรือ SX2024 ซึ่งในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งได้จัดกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด ‘Change for Good’ บริเวณ Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยนำเสนอผลการขับเคลื่อนภารกิจสร้างความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ภายใต้กลไกของกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และตลอดทั้งวันในบูธกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทย ได้มี “ซุ้มมหาดไทยปันสุข” หมุนเวียนนำพืชผักสวนครัว จากแปลงโคก หนอง นา อารยเกษตร และแปลงพืชผักสมุนไพรและผลไม้ของภาคีเครือข่าย ตามแนวพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดและร่วมตอบคำถามกับกระทรวงมหาดไทย ก็สามารถเลือกพืชผักสวนครัวผลไม้และของที่ระลึกจากบูธกระทรวงมหาดไทยกลับบ้านไปได้ทันที และยังสามารถเก็บคะแนนเพื่อรับของรางวัลจากทางคณะผู้จัดงาน SX2024 ได้อีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ร่วมเยี่ยมชมบูธกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทยยังสามารถร่วมสนทนากับภาคีเครือข่ายความยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ผ่านกิจกรรม Live Action “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก (SUFFICIENCY FOR SUSTAINABILITY)” ซึ่งสามารถสอบถามปัจจัยความสำเร็จ (Key Success) ได้แบบ Real Time หรือรับชมผ่าน Facebook Fanpage กระทรวงมหาดไทย PR ได้ทุกวันตลอดการจัดงาน ตามช่วงเวลาต่าง ๆ อาทิ วันที่ 29 กันยายน 2567 เวลา 11.00 – 12.00 “หมู่บ้านยั่งยืน (SUSTAINABLE VILLAGE)” อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เวลา 13.00 – 14.00 น. “โคก หนอง นา อารยเกษตร” นายประเสริฐ ยุวกาฬกุล หมู่ที่ 4 ต.ร่อนกอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 14.30 – 15.30 น. “1 อปท. 1 สวนสมุนไพร” อบต.เหนือเมือง อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด เวลา 16.00 – 17.00 น. “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” กลุ่มปิยาสีลา จ.เพชรบูรณ์ รวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 11.00 – 12.00 น. “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด เวลา 13.00 – 14.00 น. “กิจกรรมยกระดับบริการตามมาตรฐาน GECC” การประปาส่วนภูมิภาค สาขามหาสารคาม เวลา 14.30 – 15.30 น. “หมู่บ้านยั่งยืน (SUSTAINABLE VILLAGE)” อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เวลา 16.00 – 17.00 น. “7,300 โครงการตามผังภูมิสังคม” จ.อุบลราชธานี
“วันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับเกียรติจากภาคีเครือข่าย ร่วมเที่ยวชมบูธกิจกรรมของกระทรวงมหาดไทย เป็นจำนวนมาก อาทิ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, ฯพณฯ โอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงฯ หอการค้าไทย ตลอดจนพี่น้องภาคีเครือข่ายจากทุกองค์กร หน่วยงาน นักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยตน พร้อมด้วยนายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมคณะผู้บริหารกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และคณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ นายประสพโชค อยู่สำราญ, นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย, รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล และคณะข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ร่วมแนะนำบูธกิจกรรมและนำภาคีเครือข่ายร่วมสนุกและได้รับองค์ความรู้ในบูธกิจกรรม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยถือว่าเป็นกระทรวงที่เป็นยาดำของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ อันหมายความว่า เป็นหน่วยงานระดับกระทรวงที่ทุกเรื่องทุกภารกิจเกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคนมหาดไทย นำเรื่องมาตั้งแต่การสถาปนากระทรวงมหาดไทยจวบจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 132 ปี สะท้อนผ่านคำขวัญและปณิธานของคนมหาดไทยที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยความมุ่งมั่นของส่วนราชการระดับกรม จังหวัด หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อำเภอ ฝ่ายปกครองท้องที่ ตลอดจนพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทำให้กระทรวงมหาดไทยได้รับการยอมรับว่า “เราทำงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเรื่อง ดังมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 5 มิติ ยกตัวอย่างเช่น 1. มิติด้านสังคม People กระทรวงมหาดไทยเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งเสริมอาชีพ การขจัดความหิวโหย ทำให้คนมีน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 2. มิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่ UN เรียกว่า Planet กระทรวงมหาดไทยดูแลจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากและประสบความสำเร็จมากกว่าทุกหน่วยงาน ทั้งการคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่นอกจากจะได้สารบำรุงดินที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตที่ตอนนี้มีมากกว่า 1.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มากกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศ นอกจากนี้ ควบคู่กันกับการคัดแยกขยะเปียกใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน เรายังได้นำไปสู่การจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” ชาวบ้านสามารถนำขยะรีไซเคิลไปขายมีรายได้เป็นหลัก 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีธนาคารขยะทั่วประเทศมากกว่า 14,000 แห่ง ครอบคลุมทุก อบต. เทศบาล ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้เราสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเรา นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้แล้วใช้อีก ใช้ซ้ำ และยังนำกลับไปผลิตใช้ใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยเราพยายามส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การทำโคก หนอง นา อารยเกษตร ด้วยการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบซึ่งในพื้นที่โคก หนอง นา ยังช่วยหนุนเสริมในด้านสิ่งแวดล้อมคือ ประการที่ 1 ไม่ใช้สารเคมี ประการที่ 2 ไม่เผาไม่จุดไฟเผาป่า ไม่เกิด PM 2.5 ประการที่ 3 ในพื้นที่มีป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง มีต้นไม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็น 1,000,000 ต้น ประการที่ 4 เรื่องน้ำที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าเพราะน้ำคือชีวิต และโคก หนอง นา ยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสีย ป้องกันไม่ให้น้ำแล้ง ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้อย่างดีเยี่ยม 3. ด้านเศรษฐกิจ เป็นการตอบโจทย์ในข้อ 1 และข้อ 2 เมื่อพี่น้องประชาชนหลุดพ้นความยากจน เศรษฐกิจก็ดีขึ้น เพราะผู้คนมีอาหารการกิน สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ มีโอกาสการทำมาหากินสะดวกขึ้น รวมไปถึงเรื่องขยะที่ก่อให้เกิดรายได้ และอาชีพที่เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริต่าง ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนอกจากเรื่องอารยเกษตรแล้ว ยังมีพระราชดำริด้านความมั่นคงทางอาหาร บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน และเรายังส่งเสริมให้คนรวมกลุ่มเป็นกลุ่มอาชีพ เช่น OTOP เรื่องการส่งเสริมผ้าไทย บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เศรษฐกิจดีทั้งสิ้น
“เป้าหมายสูงสุดของการขับเคลื่อนงานกระทรวงมหาดไทย คือเรื่อง Partnership หรือภาคีเครือข่าย ด้วยการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หรือ (CAST : Change Agent for Strategic Transformation) ด้วยการบูรณาการงานทุกกระทรวง เพราะทุกงานมีผลกับคนทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ขณะเดียวกันในระดับนานาชาติ กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้มีบันทึกข้อตกลง MOU กับ UN Thailand “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยรายละเอียดของความสำเร็จของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่าย ได้ถูกรวบรวมไว้ที่บูธกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะทำให้ทุกท่านที่เยี่ยมชมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกท่านสามารถเรียนรู้ผ่าน QR Code ที่ปรากฏอยู่ในบอร์ดนิทรรศการ ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอเชิญพี่น้องประชาชนทุกท่าน ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมเยี่ยมชม “มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน” ผ่านประสบการณ์เต็มรูปแบบ ในงาน Sustainability Expo 2024 หรือ SX2024 ในระหว่างวันที่ 27 ก.ย. – 6 ต.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
#กระทรวงมหาดไทย #บําบัดทุกข์บํารุงสุข #MOI #SustainabilityExpo2024 #SX2024 #ChangeforGood
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1885/2567 วันที่ 27 ก.ย. 2567