น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองดำเนินการการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้วันที่ 16 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของประชาชนจิตอาสาที่ทำหน้าที่ ชรบ. ที่ทำงานดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเป็นกองกำลังแถวหน้าในการต่อสู้ปัญหายาเสพติด เป็นไปตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องคน ทั้งเจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้มีความเสียสละช่วยเหลืองานเพื่อส่วนรวม
โดยล่าสุดนายอนุทิน ได้ลงนามในประกาศกระทรวงและมีผลบังคับแล้ว รอเพียงขั้นตอนการประกาศในราชกจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนทราบในวงกว้างต่อไป
“ท่าน มท.1 ย้ำอยู่ตลอดว่าใครที่ทำเพื่อส่วนรวม ยิ่งหากเขาคือประชาชนที่เสียสละจริงๆ ทำเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนยิ่งต้องถูกมองเห็น ได้รับการยกย่องให้ความสำคัญ เพื่อให้เป็นแบบอย่าง สร้างวัฒนธรรมจิตอาสา เมื่อคนส่วนใหญ่ของสังคมอยากทำเพื่อส่วนรวม ประเทศก็จะเข้มแข็งมาจากฐานราก” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ชรบ. เกิดขึ้นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งกำหนดให้มีหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน และ ชรบ. ที่มาจากราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กรมการปกครองกำหนด และได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่
นอกจากการรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน ชรบ. ยังถือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตรวจตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยสืบสวนหาข่าว พฤติการณ์อันอาจเป็นภยันตรายต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังรักษาสถานที่สำคัญ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกหมู่บ้าน ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ทางอาญาและการก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ ป้องกันและบรรเทาธารณภัยตามที่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นร้องขอ ตลอดจนภารกิจเสริมในด้านการพัฒนาหมู่บ้าน สนับสนุนการดำเนินงาน ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวง กรม ต่าง ๆ ที่ดำเนินงานในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน ชรบ. จึงเป็นกองกำลังประชาชนหลักของกระทรวงมหาดไทย ที่มีความใกล้ชิดประชาชน ที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่นเสียสละ ด้วยจิตสาธารณะ ทุ่มเท โดยไม่มีค่าตอบแทน เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สมควรแก่การได้รับยกย่อง เชิดชูเกียรติ เป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนการกำหนดวันที่ 16 ก.ค. ของทุกปีเป็นวัน ชรบ.นั้น เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ กฎหมายลักษณะโจรห้าเส้น จุลศักราช 1199 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. พ.ศ. ๒๓๘๐ ที่มีการกำหนดให้ราษฎช่วยระงับการปล้นสดมภ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามมีกำลังไม่เพียงพอที่จะระงับเหตุ บนหลักความรับผิดชอบร่วมกันของชุมชน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ ชรบ. ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมการปกครองได้มีการจัดตั้ง ชรบ. ใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 75,142 หมู่บ้าน ได้รับการแต่งตั้ง ชรบ. แล้ว 45,761 หมู่บ้าน รวมเจ้าหน้าที่ ชรบ. 463,471 คน ส่วนที่เหลือยังไม่มีการตั้ง ชรบ. 29,381 หมู่บ้าน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 2076/2567 วันที่ 6 ธ.ค. 2567