เมื่อวานนี้ (10 เมษายน 2568) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ องค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) พร้อมมอบนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจจัดการน้ำเสียของประเทศ โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานองค์การจัดการน้ำเสีย ให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ปัญหาน้ำเสีย” ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลจึงมอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสียดำเนินการอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมุ่งเน้นให้การบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่เป็นภาระต่อชุมชน อีกทั้งสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยภารกิจเร่งด่วนประจำปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าขยายโครงการบำบัดน้ำเสียสู่พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบปัญหารุนแรงจำนวน 464 แห่งทั่วประเทศ โดยในระยะเริ่มต้นจะเร่งดำเนินการทันทีอย่างน้อย 50 แห่ง ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด โดยใช้ 4 กลยุทธ์ ได้แก่ การมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ สร้างความรู้และความยั่งยืน และมีแผนรับมือความเสี่ยงที่ชัดเจน พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลความคืบหน้าในทุกไตรมาส
ต่อจากนั้น น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงานด้านการบำบัดน้ำเสีย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารท้องถิ่นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดการน้ำเสียไม่ใช่เพียงหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นภารกิจร่วมของคนในชุมชน ที่จะนำไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“การมีส่วนร่วมของประชาชน คือ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการน้ำเสียมีประสิทธิภาพ และทำให้ประเทศไทยมีแหล่งน้ำที่สะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดี และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 256/2568 วันที่ 11 เม.ย. 2568