วันนี้ (3 ส.ค. 61) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของกรมและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีผู้แทนหน่วยงานในสังกัด และส่วนราชการในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เข้าร่วมรับฟังการประชุมด้วย และการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนของสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมให้คำปรึกษาแนะนำรายละเอียดตัวชี้วัด และเกณฑ์การประเมินฯ ด้วย
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของกรมและจังหวัด เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และขณะนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งผลการประเมินเบื้องต้นในรอบการประเมินที่ 1 (1 ต.ค.2560-31 มี.ค.2561) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินผลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดใน 5 องค์ประกอบ คือ 1.ภารกิจหลัก (Function Base) 2. นโยบายหลัก (Agenda Base) ซึ่งเน้นตัวชี้วัดการจัดการขยะมูลฝอย และ ตัวชี้วัดรายได้จากการท่องเที่ยว 3. ภารกิจเชิงพื้นที่ (Area Base) ได้แก่ ตัวชี้วัดตามยุทธศาสตร์จังหวัด การบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวง/จังหวัด 4. การพัฒนานวัตกรรม (Innovation Base) ได้แก่ ข้อเสนอการพัฒนานวัตกรรมของจังหวัด และการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และ 5. ศักยภาพของส่วนราชการ (Potential Base) ได้แก่ การจัดทำและดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวในรอบการประเมินที่ 2 (1 เม.ย. -30 ก.ย. 2561) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดประชุมขึ้นในวันนี้ และได้เชิญผู้แทนจากสำนักงาน ก.พ.ร. เข้าร่วมชี้แจงและให้คำปรึกษา แนะนำรายละเอียดตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มีความเข้าใจที่ตรงกัน และเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ ในรอบการประเมินที่ 2 ได้มีการหารือร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. ถึงผลจากการวิเคราะห์ประมวลผลสาเหตุของปัญหาที่ทำให้การดำเนินงานตามตัวชี้วัดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น เหตุปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมาย เช่น นโยบายประเทศเพื่อนบ้านที่เปลี่ยนแปลงภัยธรรมชาติ สถานการณ์ความมั่นคง เป็นต้น หรือปัจจัยจากความคลาดเคลื่อนของข้อมูล เนื่องจากใช้ฐานข้อมูลจากหน่วยงาน เช่น ข้อมูลจำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ทวงคืนได้ การเข้าครอบครอง เป็นต้น รวมถึงปัญหาการกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของจังหวัดในภาพรวม ซึ่งปัญหาและข้อจำกัดในครั้งที่ประชุมได้หารือกับผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อให้คำแนะนำ/ ข้อเสนอแนะ รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติแก่จังหวัด ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวชี้วัดอื่นๆ อีกด้วย เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม
ท้ายนี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับและให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดการจัดการขยะมูลฝอย รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การทำงานประสบผลสำเร็จ และนอกจากนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อพัฒนางานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้มีความก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคง และยั่งยืนต่อไป.
กลุ่มงานเผยแพร่การประชาสัมพันธ์ กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 156/2561 วันที่ 3 ส.ค. 2561