เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 67 เวลา 15.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวประกาศความสำเร็จและขอบคุณภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของกระทรวงมหาดไทย (MOI TED TALK: The Success of MOI’s Actions) ในงานการประกาศความสำเร็จการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย (MOI’s Success of Sustainable Development) โดย ได้รับเมตตาจากพระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ เจ้าคณะภาค 6-7 (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร เมตตาสัมโมทนียกถา เรื่อง ผลสำเร็จของการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Buddhism and Sustainable Development) และได้รับเกียรติจาก คุณศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยเจ้าของแบรนด์ THEATRE และ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความรู้และสื่อสารการศึกษา ร่วมอภิปราย เรื่อง ผลสำเร็จของการน้อมนำแนวพระดำริโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) โดยมี ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่เป็นพลังที่สำคัญของการประกาศความสำเร็จการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ และการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นงานที่กระทรวงมหาดไทยเราได้เพียรพยายามในการขับเคลื่อนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ “ความสำเร็จหรือความล้มเหลว” ของงานที่ทำนั้นขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน เพราะพวกเรา คือ “ผู้นำ” Partnership จะเข้มแข็งได้ด้วย Leader ที่ต้องทำตนให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดเอาพลังความรู้ความสามารถของทั้ง 7 เครือข่ายมาหลอมรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้นำของอำเภอ คือ นายอำเภอ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ในการบูรณาการงาน และบูรณาการสรรพกำลังของทุกกระทรวง ทุกกรม และทุกภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน
“ในรอบปีที่ผ่านมา พวกเราได้เจอสิ่งดี ๆ มากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากผลงานที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเราทุกคนทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมถึงพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นว่า “คนมหาดไทยตั้งใจในการทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชน” ด้วยจุดหมายที่จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ซึ่งจากการประกาศผลสำเร็จในด้านต่างๆของทุกท่านในวันนี้ ตนขอฝากให้พวกเราทุกคนได้กลับไปพูดคุยกับทีมงาน ทั้งทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่าย ทั้งเรื่องของ 1) การพัฒนา “ฐานข้อมูล ThaiQM” ที่ต้องให้ความสำคัญในการพูดคุย ปรับปรุง และนำมาคลี่ให้เป็นหมวดหมู่ตามรายครอบครัว และต้องหมั่นอัพเดททำให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอตลอดเวลา เพื่อบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน 2) การใช้ประโยชน์จาก “ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map)” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้นำแนวคิดของ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย มาพัฒนาต่อยอดในการบริหารจัดการน้ำ จนวันนี้เราเห็นผลความสำเร็จ อันเปรียบประดุจได้กับ “เพชรพลอยที่จะมีคุณค่าต่อเมื่อเราหยิบมาขัดถูและประดับให้มีความสวยงาม” อันเปรียบเสมือนข้อมูลที่เราต้องนำมาปัดเป่า ทำให้ใหม่อยู่เสมอ เช่น ตัวอย่างที่ดี คือ การบริหารจัดการน้ำ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้นำพี่น้องประชาชน ช่วยกันทำโครงการบริหารจัดการน้ำ โดยน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักการ “จากท้องนภาผ่านภูผาสู่มหานที” ทั้งการทำฝายแม้ว หลุมขนมครก ขุดหลุม ขุดสระในแม่น้ำลำคลอง ที่เปรียบเสมือนรากแก้วของต้นไม้ที่มีรากฝอยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สายน้ำระบายแยกแตกแขนงออกไปยังที่ต่าง ๆ ด้วยการตัดมวลน้ำ ชะลอน้ำให้ที่ต่าง ๆ ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงขอให้พวกเราชาวราชสีห์ได้นำคุณค่าของ Geo – Social Map ที่เปรียบเสมือนเพชรพลอย ที่พี่น้องชาวราชสีห์ต้องนำสิ่งที่สวยงามนี้ ต่อยอดขยายผลให้เกิดความยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่อง “การบริหารจัดการขยะ” สิ่งที่ท้าทายที่สุด คือ การขยายผลบริหารจัดการให้กว้างขวางและทั่วถึง โดยมี ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ที่จะร่วมขับเคลื่อนกับพวกเรา ด้วยการกระตุ้นให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ขับเคลื่อนทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ไม่ว่าเราจะมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบ 100% และธนาคารขยะกว่า 14,000 แห่ง ที่มีสมาชิกกว่า 3 ล้านคนแล้ว ให้เพิ่มเติมจนสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย ด้วยการเชิญชวนลูกหลานให้มีต้นไม้ประจำชีวิต คนละ 1 ต้น ดังที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีประชากร 1,400,000 คน แต่สามารถปลูกต้นไม้ยืนต้นได้มากกว่า 2 ล้านต้น สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ” รวมถึงการบริหารจัดการน้ำเสียจากชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ที่เรามีภาคีเครือข่ายด้านการจัดการน้ำเสีย โดยเฉพาะองค์การจัดการน้ำเสีย รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล อบต. ดังนั้น ผู้บริหารกระทรวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเปิดใจรับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้อย่างจริงจัง เพราะความสำเร็จในเรื่องเดียวไม่สามารถเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กเยาวชน ที่จะต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งดูแลประเทศชาติดูแลครอบครัวแทนพวกเรา ซึ่งเรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนตั้งแต่ก่อนครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อที่จะดูแลผู้สูงวัยไม่ให้หกล้มกระดูกหักซ้ำซาก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือป่วยติดเตียง อันเป็นการต่อยอดจากน่านโมเดล รวมถึงบันทึกความร่วมมือ ร่วมกับ สสส. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัย มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสในการได้รับสารอาหารครบทุกหมู่ ผ่านการรับประทานไข่วันละ 2 ฟอง ควบคู่การทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข และส่งเสริมด้านความเป็นเลิศด้านการศึกษาให้กับสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่เด็กปฐมวัย ประถมศึกษา มุ่งเน้นหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจและเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนในชาติ ผ่านวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ขับเคลื่อนจัดฝึกอบรมผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น จำนวน 19 รุ่น ทั่วประเทศ ผู้เป็นครูอาสาภาคประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเอาจริงเอาจัง กระตุ้นปลุกเร้า เปิดเวทีให้พี่น้องที่เป็นครูจิตอาสา ได้ขับเคลื่อนดังกล่าวอย่างจริงจัง และท้าทายในการมุ่งสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ ภายใต้การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ และ 7 ภาคีเครือข่าย จะต้องไม่หยุดยั้งเพียงแค่นี้ แต่เราต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “Passion” ด้วยการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ให้เพิ่มมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่และที่ผ่านมา เพื่อให้พวกเราทุกคนได้ภาคภูมิใจว่า “เราเป็นราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผู้มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ ที่จะทำงานในทุกลมหายใจของชีวิต เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” และเพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1834/2567 วันที่ 19 ก.ย. 2567